0

Traveloka TH

28 Jul 2017 - 9 min read

ปาย – กัลยาณิวัฒนา ป่าสนวัดจันทร์ในสายฝน กับใครบางคนที่เราคิดถึง

กรีนซีซั่น คือสวรรค์ชั้นเฟิร์สคลาสของคนที่รักธรรมชาติอย่างแท้จริง แม้ว่าหน้าฝนควรเป็นฤดูที่เหมาะแก่การนำร่างกายอยู่หลบใต้ชายคา แต่ความเปียกปอนของหยาดน้ำเย็นฉ่ำและเสียงครืนคำรามจากฟ้า คือคำท้าทายให้เราได้ออกเดินทาง โดยปกติหากเป็นหน้าฝนผมจะเดินป่า แต่ครั้งนี้ถึงจะไม่ได้เอาเป้ขึ้นบ่าก็ยังรู้สึกว่าใบไม้เขียวๆที่ถูกเคลือบชโลมไว้ด้วยน้ำใสๆ มันมีเสน่ห์อย่างบอกไม่ถูก นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอื่นๆอีกมากมายที่ทำให้ฤดูฝนน่าเที่ยวมากขึ้น เช่น การที่ไม่ต้องไปเบียดเสียด แย่งกิน แย่งเที่ยว หรือกระทั่งแย่งเบาะนั่งสำหรับการเดินทาง หรือใครที่ชอบปรากฏการทางธรรมชาติก็ต้องหลงรักหน้าฝน เพราะมันจะตามมาด้วยหมอกที่ไหลเป็นสาย บางครั้งก็เห็นจรดโค้งของรุ้งกินน้ำ 7 สีเหมือนเป็นมงกุฎของท้องฟ้ายามฝนซาเม็ด และเว็บไซต์ asia.vacationxtravel.com ก็จัดอันดับประเทศน่าเที่ยวในหน้าฝนของแถบโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

มัวแต่พิรี้พิไรก็คงไม่ได้อะไรขึ้นมา ถ้าเป็นวัยรุ่นสมัยนี้คงต้องพูดว่า "สายลุย เขาไม่คุยให้เสียเวลา" ปักหมุดกันเลยดีกว่า คำตอบของหน้าฝนในครั้งนี้ผมมีเหตุผลที่จะไป "ป่าสนวัดจันทร์" คือ
1.ต้องการสถานที่พักผ่อนแบบเงียบสงบ ใช้เวลาเขียนงาน ถ่ายภาพ หรือทำอะไรที่มีสมาธิได้
2.อยากตามรอยเสด็จ ท่องไปตามถิ่นฐานกันดารไกล ทำความเข้าใจกับสิ่งที่พระองค์ทิ้งไว้ให้เป็นมรดก เพราะตัวผมเองค่อนข้างเหนื่อยกับงานอาสาที่ทำอยู่ อยากหลบไปตามรอยสเด็จฯ เพื่อชาร์จพลังให้ตัวเองอีกครั้ง

ก่อนจะเริ่มแผน ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่า "แผนคือ ไม่มีแผน" ใช้ได้กับคนที่มีเวลาเหลือจริงๆ ฉะนั้น แพลนการเดินทางควรเริ่มอย่างมีขั้นตอน โดยเราจะเริ่มต้นการเดินทางจากเชียงใหม่ เข้าสู่อำเภอปายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และพักที่ปาย 1 คืน ก่อนเดินทางไปป่าสนวัดจันทร์ การเดินทางไปแม่ฮ่องสอนมีรถโดยสารของ บริษัทเปรมประชา มีรถสองประเภทคือ รถตู้และรถสองแถว สายลุยจึงต้องเลือกรถสองแถว ซึ่งมีเพียง 3 รอบเท่านั้นคือ 7โมงเช้า 11 โมงเช้า และ 4 โมงเย็น โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงในการเดินทาง เราจึงต้องกะเวลาการเดินทางให้เป๊ะพอสมควร

จริงๆแล้ว เหตุผลสำหรับรถสองแถวคือมันอ้วกสะดวกกว่าครับ ไม่ใช่อยากลุยอะไรมากมายหรอก ความน่ารักของตั๋วรถคือ เป็นตั๋วกระดาษที่ยาวมาก เนื่องจากราคาตั๋ว เป็นใบละแค่ 5 บาท ทำให้หากขายตั๋วครั้งหนึ่งในราคา 80 บาท จึงต้องฉีกออกมายาวเป็นเมตร แน่นอนล่ะ มันต้องโดนใจคนที่ชอบสะสมตั๋วแน่ๆ ซึ่งตั๋วใบนี้ก็ไม่ได้เพิ่งทำออกมาเพื่อให้ดูเก๋ๆ แต่พี่ไพบูลย์ โชเฟอร์หน้าคมใจดี บอกกับผมว่า มันมีใช้กันมานานรวม 30 กว่าปีแล้ว เป็นตั๋วแบบแรกที่ไม่เคยเปลี่ยนเลย โดยเมื่อก่อนนั้นบริษัทใช้รถเมล์ในเป็นรถโดยสารระหว่างเชียงใหม่-ปาย แต่หลังจากเกิดอุบัติเหตุรถเมล์ตกเขา จึงเปลี่ยนมาเป็นรถเล็กอย่างรถตู้และสองแถว ซึ่งผมรู้สึกเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่เปลี่ยนรถ

ไฮไลท์ของเรามันเริ่มตั้งแต่ล้อยางหมุนตัวบดลงบนถนน เพราะสองข้างทางตั้งแต่เชียงใหม่ ถึงปายนั้นเต็มไปด้วยทิวทัศน์ที่หาไม่ได้ในเมืองใหญ่ ยิ่งช่วงกรีนซีซั่น ดอกไม้ใบหญ้ายิ่งเร่งสีอวดโฉมน่ามอง รถโดยสารจะจอด 2 จุดใหญ่ๆ คือ บ้านแม่เลา เป็นเหมือนร้านค้า สามารถเข้าห้องน้ำซื้อของกิน นั่งพักผ่อนได้ชั่วคราว และอีกจุดคือด่านตรวจใกล้กับทางขึ้นอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง

ด้วยความเป็นมืออาชีพของโชเฟอร์ ประมาณ 10 โมงเศษๆ เราก็ถึงตัวเมืองปายตามกำหนดเวลา แต่ผมรู้สึกเหมือนว่าหลับตาแล้ววาร์ปมาที่เมืองอะไรสักแห่งอันเป็นศูณย์รวมของคนทุกชนชาติ เพราะปายได้รับความนิยมอย่างมาก จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีน กับฝรั่ง ซึ่งเรามีวิธีการแยกจีนกับฝรั่งออกจากกันอย่างง่ายมากแม้เห็นเพียงด้านหลัง นั่นก็คือคนจีนจะใช้กระเป๋าล้อลาก ด้วยล้อพลาสติก บดกับถนนคุณภาพในประเทศไทย เสียงมันก็จะดังแต๊กๆๆๆๆ ไปตลอดทาง ส่วนฝรั่งก็แบกเป้แบ็คแพ็คใบใหญ่ เหมือนแกหวงไม่ยอมวางไว้ที่ห้องสักที

ในตัวเมืองปายมีที่พักและร้านอาหารค่อนข้างเยอะ หากใครไม่เคยมาให้สังเกตุคิวรถของเปรมประชา ละแวกนั้นทั้งหมดคือถนนคนเดิน หากต้องการเดินเท้าก็ควรหาที่พักไม่ให้ไกลจากถนนคนเดินมากนัก บริเวณนี้กลางวันก็เต็มไปด้วยร้านอาหาร ร้านขายของ และสิ่งที่ต้องระวังเมื่อมาเดินริมถนนที่ปายคือ มอเตอร์ไซค์ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเดินทางมากจากทั่วสารทิศ ซึ่งมีไม่น้อยเลยที่แทบขับขี่ไม่เป็น และหากสังเกตุดีๆจะพบว่า นักท่องเที่ยว 1ใน10คน จะมีผ้าก็อตพันแข้งพันขา ไม่ได้ไปรบกับใครที่ไหนแต่เป็นอุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซค์แทบทั้งนั้น

-------------------------------- รีวิวที่พัก --------------------------------
ห่างจากตัวเมืองปายประมาณ 5 กิโลเมตร เราจะพบกับหมู่บ้านชาวจีนยูนนาน หรือที่เรียกว่าบ้านสันติชล ภายในพื้นที่หมู่บ้านเปรียบเสมือนศูนย์วัฒนธรรมเล็กๆ ซึ่งดูแล้วเหมาะกับรุ่นแม่ของเราเสียมากกว่า เพราะมีมุมน่ารักๆให้ถ่ายรูปเล่น สามารถขี่ม้า เล่นโล้ชิงช้าชาวเขา มีร้านขายของที่ระลึกเล็กๆน่ารัก นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารและที่พักแบบบ้านดินไว้บริการด้วย แต่หากได้เดินดูรอบๆแล้วจะพบว่า หมู่บ้านจีนแห่งนี้น่าอยู่ไม่น้อยเลย เนื่องจากตั้งอยู่บนแนวภูเขา ทำให้เห็นทิวทัศน์ของเมืองปายได้อย่างชัดเจน บริเวณหมู่บ้านยังมีการจำลองกำแพงเมืองจีน ให้เราได้ลองซ้อมเดินก่อนไปเจอของจริงอีกด้วย

ผู้มาเยือนส่วนใหญ่มักคิดว่า อ.ปาย เป็นเมืองที่สร้างขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว นั่นก็ไม่ผิดนัก แต่ความจริงแล้ว ปายคล้ายกับเป็นเมืองท่ามานานพอสมควร และเมื่อนักท่องเที่ยวยิ่งรู้จักมากขึ้น ตัวเมืองก็พัฒนาตามขึ้นไปด้วย ความศิวิไลซ์ในจุดศูนย์กลาง จึงกลบธรรมชาติที่เคยอยู่คู่เมืองปายมานานแสนนาน ผมเชื่อว่าหลายคนไม่รู้ว่าปายมีแหล่งน้ำพุอยู่หลายแห่ง เท่าที่รู้และสามารถแช่ได้มี 2แห่ง แห่งแรกคือ น้ำพุร้อนไทรงาม อยู่ระหว่างเส้นทางที่จะเข้าไปในแม่ฮ่องสอน เป็นบ่อน้ำพุขนาดเล็ก และค่อนข้างเงียบสงบ ลักษณะเป็นบ่อน้ำผุดตามธรรมชาติ ซึ่งค่อนข้างใสมาก เป็นนี่น่าแปลกใจว่าแทบไม่มีคนไทยมาเล่นน้ำนี่ที่เลย กลุ่มคนที่มาลงแช่น้ำล้วนเป็นชาวต่างชาติทั้งสิ้น อุณภูมิของน้ำกำลังเหมาะแก่การแช่ตัว มีการเก็บค่าบริการเพียงคนละ 20 บาทเท่านั้น และพนันได้เลยว่าช่วงพีคซีซั่นของบ่อน้ำพุร้อนแห่งนี้ต้องไม่พ้นหน้าหนาวอย่างแน่นอน

หากบ่อน้ำพุร้อนไทรงามเล็กเกินไป เราจะแวะไปอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งค่อนข้างใหญ่ คือ โป่งน้ำร้อนท่าปาย อยู่ในพื้นที่ของเขตอุทยานห้วยน้ำดัง มีลักษณะเป็นบ่อน้ำผุดตามธรรมชาติเช่นเดียวกับบ่อน้ำพุร้อนที่อื่น แต่มีความพิเศษตรงที่อุณภูมิน้ำค่อนข้างร้อน คือ ระหว่าง 80-100 องศาเซลเซียส แน่นอนว่าต้มไข่ให้สุกได้สบาย โดยน้ำที่มีอุณภูมิสูงสุดจะผุดอยู่ด้านบน ซึ่งเป็นจุดที่สามารถต้มไข่ได้ และหากจะลงแช่ตัวนั้นก็สามารถทำได้ เพราะโป่งน้ำร้อนท่าปาย จะมีบ่อพักให้น้ำร้อนได้ไหลลงมา ซึ่งอุณภูมิก็ลดลงเรื่อยๆ หากใครชอบความร้อนที่เท่าไหร่ก็แค่เดินลงมาชั้นล่างๆ คล้ายกับการหมุนปรับวอลลุ่มเครื่องทำน้ำอุ่นอย่างไรอย่างนั้น หากไม่ใช่ช่วงไฮซีซั่น จะสังเกตได้ว่ามีบ่อน้ำค่อนข้างหลายบ่อที่แห้งสนิท ไม่ใช่เพราะน้ำผุดเหือดหายไปแต่ประการใด แต่เป็นเพราะทำบ่อเอาไว้สำหรับช่วงหน้าหนาวนั่นเอง พื้นที่โดยรอบโป่งคล้ายกับเส้นทางศึกษาธรรมชาติขนาดย่อม มีทางเดินวนสำหรับการเดินชมบรรยากาศ เสียค่าเข้าชม 50 บาท แช่น้ำได้ทั้งวัน

เมื่อแช่น้ำหรือกินไข่ต้มกันอิ่มแล้ว ก็เป็นเวลาจวนโพล้เพล้ เป็นไปไม่ได้ที่เราถ่อร่างกายมาสุดขอบฟ้าแล้วจะไม่หามุมดูพระอาทิตย์ตกดิน อีกหนึ่งแลนด์มาร์ก ที่ต้องเห็นหากมาจากเชียงใหม่ คือ ปายแคนยอน หรือ กองแลนนั่นเอง


กองแลนคือลักษณะภูเขาที่เกิดการยุบตัวของดิน เกิดเป็นร่องลึก แต่บางส่วนยังคงเป็นสัน ซึ่งกลายเป็นทางเดิน มีต้นไม้ประเภทเต็ง-รัง ขึ้นอยู่ประปรายบนสันเขา แต่เติบโตดกหนาเขียวชอุ่มอยู่ด้านล่าง และยิ่งมองไปสุดลูกตาก็จะพบกับทุ่งนาล้อมรอบด้วยขุนเขาน้อยใหญ่ กองแลนแห่งนี้คัดแยกคนออกสองประเภทโดยปริยาย หนึ่งคือคนที่ชอบอะไรใหม่ๆ อยากรู้อยากเห็น หรือบ้าพลัง มักเดินลัดเลาะปีนป่ายไปตามเส้นทางที่ค่อนข้างหวาดเสียว เลือกที่จะใช้แรงกายวิ่งเข้าหาบรรยากาศ สองคือ คนที่อยู่นิ่งๆ เลือกมองภาพเดิมๆซ้ำๆ อยู่กับปัจจุบันหรือหวนนึกถึงอดีต และปล่อยให้บรรยากาศวิ่งเข้าหาตัว ณ ตำแหน่งนี้ เราอยากเป็นเช่นไรก็เลือกได้เสมอ

บนสันเขาสูงสุดตรงจุดนี้ที่เรานัดพบกับพระอาทิตย์ ทิวากาลสุดท้ายจะร่ายรำแต้มสีสันลงบนผืนฟ้า ประหนึ่งว่ามอบรางวัลให้ผู้ที่อดทนเฝ้ารอมัน ช่วงเวลาประมาณ 15 นาที ท้องฟ้าเปลี่ยนสีอยู่ตลอดเวลา ผมตื่นเต้นมากทั้งๆที่มันก็แค่ปรากฏการณ์ของพระอาทิตย์ตกธรรมดา หรือเพราะว่าเราถูกหลังคาบ้านคุ้มกะลาหัวนานเกินไป ผมเชื่อว่าคนที่ออกเดินทางมีหลายเหตุผล บ้างอยากเก็บเกี่ยว บ้างอยากปลดปล่อย สำหรับเรื่องทุกร้ายหรือความกังวลใดๆก็แล้วแต่ ขอให้ทิ้งไว้ที่ปลายขอบฟ้ากับพระอาทิตย์นั่นเถอะ

ถนนคนเดินหรือไนท์มาร์เก็ตกลายเป็นสิ่งที่เมืองท่องเที่ยวทุกเมืองต้องมีไปเสียแล้ว ซึ่งมันทำให้เมืองมีสีสันได้พอสมควร และคนในชุมชนเองก็มีรายได้จากตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นขายอาหาร เสื้อผ้า หรือขายเสียงเพลง มันปลุกชีวิตที่เคยซบเซาของใครบางคนให้ออกมาโลดแล่นอีกครั้ง จริงอยู่ ปายเป็นเมืองสงบ แต่ใช่ว่าจะเงียบเหงา ในแต่ละคืนจะมีรีสอร์ทหรือร้านที่จัดปาร์ตี้ ดื่มสังสรรค์ สำหรับคนที่ขาดแสงสีเสียงไม่ได้ ต่อให้มาถึงปาย ก็บอกเลยว่า ของไม่ขาดแน่นอน แต่ทั้งนี้ก็เป็นไปตามช่วงเวลา และธีมกิจกรรมแต่ละร้านบาร์ที่จัด ซึ่งไม่ซ้ำกันแน่นอน

เช้าวันนี้อากาศค่อนข้างน่าอึดอัด คล้ายกับใครสักคนเสียใจแต่ไม่ยอมร้องไห้ออกมา ผมนั่งลุ้นตัวโก่งว่าเราจะออกเดินทางกันช่วงไหน เนื่องจากเราต้องแว้นมอเตอร์ไซค์ เดินทางไกลข้ามจังหวัด จาก อำเภอปาย แม่ฮ่องสอน สู่ อำเภอกัลยาณิวัฒนา เชียงใหม่ จุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุดของเราในการเดินทางครั้งนี้ คือ "ป่าสนวัดจันทร์" ด้วยระยะทางไปกลับกว่า 80 กิโลเมตร กับมอเตอร์ไซค์ Zoomer-X จากคำแนะนำของพี่ทูน น้ำมัน 1 ถัง ถือว่าเพียงพอ เราแวะเตรียมอาหารส่วนหนึ่งจากร้านสะดวกซื้อในตัวเมืองปาย เนื่องจากมื้ออาหารที่ป่าสนวัดจันทร์ ต้องจองไว้ก่อนล่วงหน้า เพื่อให้แม่บ้านได้ทำกับข้าว แต่เราอยากเตรียมไปทานเอง ส่วนเรื่องที่พัก ไม่จำเป็นต้องจองล่วงหน้า

ป่าสนวัดจันทร์หรือโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์มีด้วยกันอยู่ 2 แห่ง ห่างกันประมาณ 5 กิโลเมตร จุดมุ่งหมายที่เราไปพักคือ โครงการหลวงบ้านวัดจันทร์องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ส่วนอีกแห่งคือ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ สถานที่ทั้งสองแห่งนี้ตั้งอยู่ใน "อ.กัลยาณิวัฒนา" อำเภอใหม่ป้ายแดง ลำดับที่ 878 ของประเทศไทย ซึ่งแต่เดิมนั้นมีชื่อว่า "อำเภอวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ" สิ่งที่กระตุ้นหัวใจของผมให้ออกเดินทางมาที่นี่ก็คงเริ่มต้นตั้งแต่เรื่องราวของชื่ออำเภอแห่งนี้ เพราะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ อำเภอกัลยาณิวัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์ให้อำเภอกัลยาณิวัฒนาเป็นอำเภอต้นแบบในการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจาก อำเภอแห่งนี้มีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขาสูงชัน ทุรกันดาร การเดินทางของประชาชนในพื้นที่ค่อนข้างลำบาก ประกอบกับการจัดการของภาครัฐที่ไม่ทั่วถึง การจัดตั้งให้เป็นอำเภอจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ระดับหนึ่ง แต่พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงปัญหารากหญ้า และวางวิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่านั้น ด้วยการโปรดเกล้าฯ จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมต่างๆให้ชาวบ้านให้มีงานทำมีอยู่มีกิน

เส้นทางจาก อ.ปาย สู่ อ.กัลยาณิวัฒนา มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเดินทางทั้งของชาวบ้านและนักท่องเที่ยวนั้นสะดวกมากยิ่งขึ้น สังเกตุได้จากระหว่างทาง ชาวต่างชาติค่อนข้างชื่นชอบบรรยากาศทางเส้นทางนี้ เนื่องจากมีมอเตอร์ไซค์ทั้งขี่สวนทางและไปเส้นทางเดียวกับเราอยู่หลายคัน สภาพอากาศกลางถนนตอนนี้ ถ้าบอกว่าดีมากจะอิจฉากันหรือเปล่า ความจริงแล้วมีแดดอยู่พอสมควร แต่อากาศเย็นประมาณ 25 องศาตลอดทั้งเส้นทาง เนื่องจากสองฝั่งถนน ยังคงเป็นป่าไม้ขึ้นหนาทึบ มีบางช่วงเท่านั้นที่เป็นเขาหัวโล้น ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชาวไร่ในแถบนี้ แต่เราก็มาถึงจุดที่ร้อนที่สุดของเส้นทางจนได้ นั่นคือ น้ำพุร้อนบ้านเหมืองแร่ เป็นบ่อน้ำพุขนาดเล็กที่ผุดขึ้นริมทาง ว่ากันว่าชาวไร่แถบนั้นได้ยินเสียงระเบิดขึ้น แล้วก็เห็นเป็นน้ำร้อนพวยพุ่งขึ้นมาจากพื้นดิน สูงเป็นเมตร เวลาผ่านไป จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเล็กๆขึ้นมาอีกจุดหนึ่ง ดูไปแล้วก็น่าทึ่งเหมือนกัน เมืองเหนือที่สภาพอากาศหนาวเย็นเช่นนี้ ใต้พื้นดินลึกลงไป กลับเต็มไปด้วยน้ำอันร้อนระอุ

หากใครมีความสามารถในการขับขี่ คือค่อนข้างมีสติและมีประสบการณ์พอสมควร แนะนำให้เช่ามอเตอร์ไซค์แล้วแว้นมาได้เลย เพราะระยะทาง 40 กิโลเมตร กับบรรยากาศรอบข้าง บอกตรงๆว่าสั้นไปด้วยซ้ำ เส้นทางมีขรุขระบ้างบางช่วง และเส้นทางที่เต็มไปด้วยป่าเขาสูงชัน จึงมีสายฝนโปรยปรายลงมาเป็นครั้งคราว แต่ไม่ใช่อุปสรรคแม้แต่น้อย มันกลับยิ่งทำให้หัวในฉ่ำชื้นขึ้นไปอีก ไม่นานนักเสียงเครื่องยนต์ที่เคยอื้ออึงกระทบหูของเราก็ดับเสียงลง ผมมาหยุดอยู่หน้าสำนักงานของ อ.อ.ป. เพียงเข้ามายืนติดต่อกับเจ้าหน้าที่ไม่กี่นาที ก็รู้สึกหลงรักที่นี่ขึ้นมาถนัด ด้วยความกว้างใหญ่ของพื้นที่ ที่แทบทุกตารางเมตรแทรกไปด้วยต้นสนขนาดใหญ่ ความสดเมื่อแมกไม้ได้รับฝนคล้ายสีหน้าของคนที่เพิ่งโดนบอกรัก มันแจ่มใส และดูสดชื่นอย่างประหลาด

โครงการหลวงบ้านวัดจันทร์องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้มีทำเลอยู่บนเนินเขา ซึ่งเต็มไปด้วยบ้านพักชั้นดี ในขณะที่ผมไปพักนั้นก็มีการก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นมาอีกเรื่อยๆ บ้านพักรองรับนักท่องเที่ยวแทบทุกประเภท ไม่ว่าจะมาเป็นคู่ กลุ่มเล็ก หรือกลุ่มใหญ่ อย่างที่ผมพักในครั้งนี้ เป็นบ้านสนเขา 7 มี 4 เตียง ห้องน้ำในตัวแยกซ้าย ขวา เป็นห้องส้วมและห้องอาบน้ำ คืนละ 1,200 บาท ไม่ต้องถามถึงแอร์คอนดิชั่นให้มันเสียอรรถรส มาถึงที่แล้ว หากไม่มียุงผมอยากจะรื้อหลังคาออกด้วยซ้ำ เพราะแค่บรรยากาศระหว่างที่เดินเข้าห้อง ก็บอกเลยว่าคุ้มค่าที่พักแล้ว หากใครสนใจที่พักลองดูรายละเอียดตามนี้ได้เลย



ณ สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยมวลแห่งความเงียบสงบ ยิ่งหากเรานั่งนิ่งๆ ธุลีความสุขเหล่านั้นก็ยิ่งเกาะตัวเรามากขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้เองที่พระองค์เคยเสด็จมาเยี่ยมราษฎร หลับตานึกภาพเส้นทางที่เต็มไปด้วยใบสนสองใบปกคลุมอยู่หนาทึบ รอยพระบาทยังคงย่ำไปบนความรู้สึก หลงเหลือไว้เพียงความเจริญงอกงามที่พระองค์ทรงปลูกมันขึ้นมา ข้อความส่วนหนึ่งของ อ.อ.ป. ได้บันทึกไว้ว่า “เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่ บ้านวัดจันทร์ และ หมู่บ้านใกล้เคียง เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2522 ทรงพบว่าราษฎรมีความแร้นแค้น ไม่มีเส้นทางคมนาคม เชื่อมกับอำเภอ ด้อยโอกาสทางการศึกษาและสุขภาพอนามัย ผลผลิตข้าวสำหรับบริโภคมีไม่พอเพียงตลอดทั้งปี แต่หมู่บ้านอยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ จึงทรงมีพระกระแสรับสั่งให้ ม.จ.ภีศเดช รัชนี องค์ผู้อำนวยการโครงการหลวง หาทางช่วยเหลือราษฎร และประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง โดยให้คำนึงถึงการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมไว้ด้วย

-----------]ลิงค์ ภาพ 360 องศา 1 ------------


ผมเดินขึ้นไปที่สำนักงานอีกครั้ง เพื่อสอบถามเส้นทางเพิ่มเติม มีชายวัยใกล้เกษียณคนหนึ่งยังคงนั่งทำหน้าที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวของแก แม้ในช่วงนี้ผู้มาเยือนจะบางตาก็ตาม “ลุงมู” แนะนำกับผมว่าหากอยากเข้าไปซื้อกับข้าวก็สามารถขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปซื้อได้ ประมาณ 4 กิโลเมตรแค่นั้น และยังได้แนะนำบ้านพักเพิ่มเติม หากต้องการมาพักอีก ซึ่งผมตอบรับไปว่าต้องมาอีกให้ได้ และจะพยายามเชิญชวนคนมาพักที่นี่ให้ได้แน่นอน คุณลุงเตรียมทำบ้านพักเพิ่มไว้ได้เลย ด้านบนสุดของเนินเขาลูกนี้เป็นที่ตั้งของเรือนรับรองหลังใหญ่ ข้อมูลล่าสุดที่ลุงมูบอก ยิ่งทำให้รู้สึกโชคดีมากที่ได้มาพักที่นี่ คือนอกจากนักท่องเที่ยวอย่างเราจะมาพักแล้ว ยังมีเชื้อพระวงศ์ คือพระเจ้าหลานเธอฯ ทรงมาพำนักที่ป่าสนวัดจันทร์แห่งนี้ด้วยเช่นกัน ต้นสนที่เห็นอยู่นี้ส่วนใหญ่เป็นสนสองใบ ลุงมูบอกว่าจะมีต้นสนสามใบแซมอยู่บ้างก็คือด้านหลังของ อ.อ.ป. ฝั่งเรือนรับรอง ซึ่งจุดนั้นเป็นเส้นทางเดินคล้ายกับเส้นทางศึกษาธรรมชาติ แต่แนะนำว่าไม่ให้เดิน เพราะทางไกลและค่อนข้างเปลี่ยวพอสมควร เนื่องจากมีต้นสนขึ้นอยู่หนาทึบ นอกจากพื้นที่แห่งนี้จะเต็มไปด้วยต้นสนสูงชะลูดแล้ว ด้านหน้าของที่พักเองก็มีทุ่งนาขนาดใหญ่อยู่พอสมควร จึงคิดไปเองว่าเจ้าหน้าที่อาจปลูกไว้เพื่อความสวยงาม ให้นักท่องเที่ยวได้มาถ่ายรูป แต่ความจริงแล้ว ลุงบอกว่า ทุ่งนาที่เห็นนั้นคือนาที่มาการปลูกเพื่อเอาผลผลิตจริงๆ และคนที่ปลูกไม่ใช่เจ้าหน้าที่ แต่เป็นชาวบ้านซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงเข้ามาปลูกข้าว โดยทางสำนักงาน อ.อ.ป ให้ใช้ที่ดินตรงจุดนั้นเพื่อทำกินได้

...ผมเริ่มหลงรักที่นี่แล้วซิ

ชาวบ้านที่นี่ถือสัญชาติไทย ในเชื้อชาติของชาวปกาเกอะญอ หรือที่เรียกกันว่ากะเหรี่ยง หลายคนอาจสะดุดกับคำนี้ ผมก็เช่นกัน เพราะต่างบอกต่อกันว่า คำว่า “กะเหรี่ยงเป็นคำหยาบคาย” ผมจึงได้มีโอกาสคุยกับ “พะญาโพ สำเนียงของชื่อแส้ก็บอกแน่นอนอยู่แล้วว่าเป็นชาวปกาเกอะญอ โดยพะญาโพ ท้าวความให้ผมเข้าใจกับคำว่า กะเหรี่ยง ซึ่งคำนี้เป็นคำกลางๆที่ถูกเรียกจากรัฐ โดยแบ่งออกเป็นดังนี้ 1.กะเหรี่ยงสะกอหรือที่เรียกตัวเองว่าปกาเกอะญอ 2.กะเหรี่ยงโปว์หรือโพล่ง 3.กะเหรี่ยงปะโอหรือตองสู 4.กะเหรี่ยงบะเวหรือคะยา กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสี่กลุ่มต่างก็ถูกเรียกคำขึ้นต้นด้วยกะเหรี่ยงเช่นกัน แต่ด้วยที่จำนวนประชากรของกลุ่มชาติพันธุ์ของปกาเกอะญอมีจำนวนมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสามกลุ่มตามลำดับ ซึ่ง พะญาโพ เองเขาก็บอกว่ารู้สึกเฉยๆกับคำนี้ แต่ก็อยากให้เรียกเป็นชื่อของชนเผ่าไปเลย เพราะมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ และให้แน่ใจมากยิ่งขึ้น ผมจึงสอบถามเพิ่มอีกสองคนคือ “ปาเกอญอ กือ คำตอบของเขาก็บอกเช่นเดียวกันว่า ไม่ถือว่าเป็นคำไม่สุภาพ แต่เขาคิดต่างออกไปเล็กน้อยคือ คำว่ากะเหรี่ยง คล้ายกับการพูดถึงชนชาติที่ด้อยกว่า ทำให้มันดูไม่ค่อยสะอาดเท่าไหร่ ส่วน “ปาเกอญอ แก่” ให้ข้อมูลอย่างตรงๆว่า คำนี้สำหรับเขาถือเป็นคำที่สุภาพ เพราะใช้เป็นชื่อเรียกกกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ ประกอบไปด้วย การแต่งกาย การใช้ภาษา วิถีชีวิต จาริต ประเพณี เป็นของตัวเอง

คงได้ข้อสรุปเสียทีว่าคำว่า “กะเหรี่ยง” สุภาพหรือไม่สุภาพอย่างไร


ไม่ว่าป่าสนวัดจันทร์ หรือพื้นที่อื่นๆในแถบภาคเหนือ ล้วนมีโครงการหลวงตั้งอยู่แทบทุกที่ หลายคนคงทราบดีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นถึงโทษของฝิ่น ซึ่งมีการระบาดหนักอยู่ช่วงหนึ่ง พระองค์จึงมีโครงการหลวงว่าด้วยการส่งเสริมให้ปลูกพืช ผัก ผลไม้ แทนฝิ่น โดยจัดตั้งโครงการหลวงที่เป็นศูนย์กลางคอยรับช่วงต่อทางผลผลิตอีกทอดหนึ่ง ซึ่ง พะญาโพ บอกกับผมว่า
โครงการหลวงต่างๆมีผลต่อชาวปกาเกอะญออย่างมาก ทำให้ชาวปกาเกอะญอที่เพาะปลูกพืชต่าง ผลไม้ชนิดต่างๆ ได้มีแหล่งรองรับผลผลิตของตัวเอง ซึ่งต่างจากแต่ก่อนหากไม่มีโครงการหลวงเข้ามาช่วยเหลือ ก็ยากที่จะตลอดรองรับผลิตที่ทำการเพาะปลูกไว้ครับ คือ ถ้าปลูกแล้วไม่มีตลอดส่งหรือรองรับก็จะยากต่อการตัดสินใจปลูก พอมีโครงการหลวงเข้ามาการปลูกอะไรต่างๆก็สามารถปลูกได้แบบเต็มกำลังเพราะอย่างไงก็ตามเราก็มีผลผลิตไปส่งให้กับโครงการหลวง การทำการเพาะปลูกก็เต็มที่ไม่ต้องลังเลใจอะไรมาก เพราะปลูกอย่างไงเราก็ได้ขาย ทำให้ความเป็นอยู่ของเราก็มั่นคงขึ้น มีอาชีพมั่นคงตามมา” นี่คือพระอัฉริยภาพของพระองค์ ที่ไม่ใช่แค่การตัดปัญหา แต่ต้องแก้ปัญหาด้วย แม้ชาวปกาเกอะญอจะไม่ได้ร่ำรวยดั่งเศรษฐี แต่ที่มีกินมีใช้ทุกวันนี้ คงปฎิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะใคร แค่ได้ฟังเพียงเท่านี้ก็รู้เลยว่าชาวเขารักพระองค์มากแค่ไหน

ละอองฝนเบาๆที่ส่ายสะบัดตามแรงฝนตอนนี้ได้จางลงแล้ว อากาศหลังฝนตกเป็นมิตรกับปอดอย่างมหาศาล ผมกำลังเดินหาจุดที่เป็นไฮไลท์ของ อ.อ.ป. เมื่อเดินขึ้นมาก็พบกับสันเขื่อน เพราะอีกฝากหนึ่งคืออ่างเก็บน้ำขนาดย่อม ขึ้นมาด้านบนจะเห็นทิวทัศน์อันกว้างใหญ่ไพศาล ภาพเบื้องหน้าคือบึงน้ำขนาดสะท้อนป่าสนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ นิ่งสงัดไม่ไหวติง ประหนึ่งภาพจิตรกรรม รอบอ่างเก็บน้ำเป็นเส้นทางเล็กๆสามารถเดินชมป่าสนได้ ผมย่ำไปบนเส้นทางเล็กๆเส้นทางหนึ่ง ในใจก็แอบติงเจ้าหน้าที่ว่าควรปรับปรุงบริเวณป่าสนให้เดินสะดวกขึ้นอีกนิด หากเส้นทางลำบากแบบนี้ ใครจะมาเดิน แค่เสี้ยวความคิดก็เหลือบไปเห็นป้ายไม้เก่าๆปักอยู่ทื่อๆ ตอนแรกคิดว่าคงเป็นป้ายบอกข้อมูล เมื่อเพ่งดีๆ กลับไม่ใช่ ผมนึกถึงคำถามตอนหนึ่งที่ถามลุงมูว่า
“พระองค์เสด็จมาที่นี่ด้วยหรือครับ”
“ใช่แล้ว พระองค์มาที่นี่ด้วย” พร้อมกับผายมือไปยังทางเดินอ่างเก็บน้ำ ทางที่ผมกำลังเดินอยู่
“เส้นทางลำบากแบบนี้ใครจะมาเดิน”คำพูดเดิมเล่นซ้ำอีกครั้ง ในภาพนั้นมีต้นสน คล้ายต้นไม้แฝดคู่หนึ่งอยู่เบื้องหลังพระองค์ ในสายตาของผมยังคงมีต้นสนคู่นั้นเด่นอยู่ มันชัดเจนจนรู้สึกว่าลมที่พัดเกรียวมาวูบหนึ่งทำให้หัวใจผมเต้นแรงขึ้นอย่างผิดปกติ ...นี่แหละที่ตามหา จุดไฮไลท์ของ อ.อ.ป.

อย่างที่ได้บอกไปตอนแรก โครงการหลวงบ้านวัดจันทร์มีด้วยกันอยู่ 2 แห่ง อีกแห่งหนึ่งนั้นเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ มีขนาดที่เล็กกว่า แต่มีที่พักไว้บริการเช่นกัน ศูนย์พัฒนาแห่งนี้จะเน้นการทำเกษตรกรรม เช่นฟักทอง ผักคะน้า หน่อไม้ฝรั่ง และไม้เมืองหนาวอื่นๆ ซึ่งนอกจากการปลูกผัก ชาวบ้านยังมีงานหัตถกรรมอื่นๆด้วย เช่นการทอผ้า จะว่าไปแล้วไม่ใช่แค่ในตัวโครงการ แต่แทบทั้งอำเภอของที่นี่ ล้วนเป็นที่ท่องเที่ยวได้ทั้งสิ้น รอบๆหมู่บ้านมีนาขั้นบันไดเล็กๆให้เห็นบ้างประปราย และหากสังเกตดีๆ ระหว่างเส้นทางต้องเห็นวิหารสวมแว่นตา ดูไปแล้วก็อดอมยิ้มไม่ได้ ทั้งๆที่วิหารนี้เป็นวิหารเก่าแก่ ซึ่งวิหารนี้ตั้งอยู่ในวัดจันทร์ เป็นวัดที่ชาวบ้านนับถือเป็นอย่างมาก ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่พระองค์ทรงเสด็จมาเยี่ยมราษฎรถึง 4 ครั้ง เห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงเป็นห่วงราษฎรอย่างยิ่ง ทำให้ทั้งชุมชนพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ละทิ้งการเกษตร ซึ่งหากใครอยากรับประทานกับข้าวด้วยผัดสดๆ อันเป็นผลผลิตจากชาวบ้านอย่างแท้จริง แนะนำว่าต้องมานี่ที่ให้ได้ หรือหากไม่แน่ใจสามารถโทรจองหรือสอบถามได้ก่อน

----------- ลิงค์ภาพ 360 องศา 2 ------------

น่าแปลกที่การมาเที่ยวที่นี่ กลับรู้สึกว่าได้ย้อนเวลาไปเป็นเด็กอีกครั้ง ผมภูมิใจกับคำว่าบ้านนอก มันรู้สึกอบอุ่นที่ได้ยิน บ้านที่ไม่มีรั้วกั้น ผู้คนยังคงยิ้มแย้ม รอบตัวเต็มไปด้วยป่าไม้ หากใครมาเยือนกัลยาณิวัฒนาก็คงรู้สึกเช่นเดียวกัน ว่าป่าแห่งนี้มันดูสมบูรณ์อยู่มาก จากประสบการณ์ที่ได้คุยและเท่าที่รู้มาบ้าง เชื่อหรือไม่ว่า ความเขียวขจีของผืนป่า มาจากความเชื่อ ที่เราชาวกรุงมองว่าล้าหลัง ชาวปกาเกอะญอมีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติเป็นอย่างมาก โดยพิธีกรรมต่างๆเองก็ผูกพันกับต้นไม้ใบหญ้าแทบทุกอย่าง ซึ่งมีความเชื่อว่า “ซวาเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่งที่อยู่บนโลกนี้ จะมีเจ้าของปกปัก ดูแลรักษา เช่น ภูเขาแต่ละลูก สายน้ำแต่ละสาย ผืนป่าแต่ละแห่ง จะมีเจ้าของอยู่ปกปักรักษาไว้ ภาษาปกาเกอะญอเรียก ที เก่อ จ่า” คือเจ้าของสายน้ำ เก่อ เกอ จา” คือเจ้าของแผ่นดิน เมื่อมีฐานความเชื่อเช่นนี้ก็ทำให้ ปกาเกอะญอต้องมีการเลี้ยงผีคือการเซ่นไหว้ของ บอกกล่าว เพื่อให้รับรู้หรือเป็นการขออนุญาตเจ้าของก่อน แล้วค่อยลงมือกระทำ เช่น การเลือกสถานที่ทำไร่ การจะทำนา หรือแม้แต่พิธีกรรมผูกข้อมือของปกาเกอะญอที่เป็นพิธีกรรมที่เป็นเอกลักษณ์และยังเห็นเป็นรูปธรรมที่สุดในปัจจุบัน ในกระบวนการผูกข้อมือก็จะมีการบอกกล่าวถึง ที เก่อ จา และ เก่อ เก่อ จาด้วยเช่น และอีกความเชื่อหนึ่งที่น่าสรรเสริญมากคือ ชาวปกาเกอะญอเมื่อคลอดลูกออกมาแล้วผู้เป็นพ่อก็จะนำรกของเด็กแรกเกิดใส่กระบอกไม้ไผ่ไว้ แล้วก็ไปเลือกหาต้นไม้ นำไปผูกมัดกับต้นไม้ต้นนั้นในป่าเดป่อ คือป่าสำหรับนำรกเด็กไปผูกไว้ เมื่อเด็กเติบใหญ่ขึ้นมาก็จะรักษาดูแลต้นไม้ของตนเอง ซึ่งต้นไม้ต้นนั้นจะไม่มีใครไปตัดไปฟันหรือไปโค่น เปรียบเสมือต้นไม้คือชีวิต ... ต้นไม้คือชีวิต

“ความสุขชั่วดอกบัวตองบาน” วลีสั้นๆผุดขึ้นมาอีกครั้ง ในวันที่เราต้องย้อนกลับเส้นทางเก่า วันที่ทุกอย่างเป็นเมื่อวาน และสมองกำลังคัดแยกภาพที่เห็นทั้งหมดเข้าสู่โหมดที่เรียกว่าความทรงจำ ป่าสนวัดจันทร์แห่งอำเภอกัลยาณิวัฒนา ช่วยชาร์จพลังงานให้ผมได้มีแรงอีกครั้งหนึ่ง พลังที่เคยสูญหายไปในช่วงเดือนตุลาคมปีนั้น ในวันนี้รอยพระบาทคงไม่ได้ปรากฏให้เห็นว่าย่ำอยู่ในปลักโคลนหรือฝุ่นทรายทุรกันดารในถิ่นแดนใดอีกต่อไปแล้ว แต่รอยนั้นยังคงอยู่ในวิถีชีวิตของราษฎรที่ได้เจริญเติบโตมา รอยนั้นยังคงอยู่กับต้นไม้และสายน้ำกับโครงการอีกนับร้อยพัน รอยพระบาทนั้นยังคงประทับอยู่ในหัวใจของคนคนหนึ่ง ซึ่งไม่เคยละทิ้งสิ่งที่พระองค์ทรงสอนไว้เลย

สุดท้ายแล้วผมก็ไม่แน่ใจตัวเองเหมือนกันว่า เดินทางมาสถานที่นี้แล้วได้อะไร ภาพเดิมๆที่สายตาเราเห็นในขณะนั้นก็กลายเป็นภาพซ้ำบนอินเตอร์เน็ต ข้อมูลเก่าๆที่เราพบเจอ หลายคนก็รับรู้อยู่แล้วเหมือนกัน หรือความจริงแล้วเราต้องการเพียงแค่เติมเต็มความรู้สึกของเราเองที่มันขาดหายไป หรือความจริงแล้วเรากำลังคิดถึงใครบางคน

----------- จบ ------------

ในช่วงที่รถโดยสารพร้อมด้วยแอร์คอนดิชั่นเย็นฉ่ำกำลังพาตัวผมกลับเข้าเมือง ขณะที่ผมกำลังนึกย้อนถึงประสบการณ์และเส้นทางที่ได้พานพบมา ก็ปรากฏข้อความหนึ่งขึ้นมาว่า
"...อันที่จริงเธอก็ชื่อ ภูมิพล ที่แปลว่า กำลังของแผ่นดิน แม่อยากให้เธอ อยู่กับดิน... เมื่อฟังคำพูดนี้แล้วก็กลับมาคิด ซึ่งแม่ก็คงจะสอนเรา และมีจุดมุ่งหมายว่า อยากให้เราติดดิน และอยากให้ทำงานให้แก่ประชาชน..."

เมื่อตั้งปณิธานไว้แล้วว่าจะทำ ก็เหมือนถูกย้ำเตือนอยู่ตลอดเวลา ว่าห้ามลืมคำที่เคยพูดไว้

เขียนแและถ่ายภาพโดย คุณดุสิต ระเบียบนาวีนุรักษ์

จากกิจกรรม ค้นหา Blogger สายเที่ยว

รับทราบข้อมูลใหม่ ๆ ตลอดเวลา
สมัครรับจดหมายข่าวของเรา เพื่อคำแนะนำการท่องเที่ยวและรูปแบบการใช้ชีวิตที่มากขึ้น พร้อมด้วยข้อเสนอที่น่าตื่นเต้น
สมัคร