0

Traveloka TH

24 Jul 2017 - 3 min read

ทริป บ้านสะจุก-สะเกี้ยง-เปียงซ้อ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน

ขวัญได้มีโอกาสรู้จักที่นี่ผ่าน หนังสือ "70 เส้นทางตามรอยพระบาท" เดิมทีคิดว่าตัวเองรู้จักน่านดีแล้ว (มีหลายที่ที่ยังไม่ได้ไป แต่คิดว่าก็น่าจะทำการบ้านสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหมดแล้วนะ เหลือแค่รอโอกาสเหมาะๆเดินทางไปเก็บแหล่งท่องเที่ยวให้ครบ)

หลังจากที่ได้อ่านเจอ “บ้านสะจุก-สะเกี้ยง และบ้านเปียงซ้อ” จากหนังสือ 70 เส้นทางตามรอยพระบาท จ.น่าน ตื่นเต้นมาก ที่ที่มีหุบเขากว้างใหญ่ นาขั้นบันได และไร่ชา ถึงกับต้องถามตัวเองว่าไม่ไม่เคยรู้เลยว่ามีที่สวยๆแบบนี้อยู่ที่เมืองน่านด้วย เส้นทางนี้จึงถูกปักหมุดไว้ในใจตั้งแต่วันนั้นเลยค่ะ

การเดินทางของเราเริ่มขึ้นที่ตัวเมืองน่าน เพื่อให้มีเวลาเพียงพอสำหรับไฮไลท์ของทริปนี้ พวกเราเลือกที่จะมุ่งหน้าตรงไปสู่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน กันก่อน นัดรถแดงให้มารับ จากนั้น ลุยกันเลย!!!!

รถแดงพาวิ่งคดเคียวตามไหล่เขา ระหว่างทางพวกเราเพลิดเพลินกับธรรมชาติสองขางทางกันมากเลยค่ะ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงเราก็มาถึง ตำบลบ่อเกลือเหนือ จุดสังเกตุคือป้าย “ต้นกำเนิดแม่น้ำน่าน” ที่นี่มีนาขั้นบันไดตลอดสองข้างทาง วิวพาโนราม่าสวยมากๆ สวยจนพวกเราต้องหยุดเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก จากนั้นแค่อึดใจเดียว เราก็เข้าสู่บ้านขุนน้ำน่าน พวกเราต้องจอดรถไว้ที่นี่และเดินทางต่อด้วยรถ 4WD ที่ทางโครงการแนะนำให้ค่ะ

ต้นกำเนิดแม่น้ำน่าน

ระยะทางต่อจาก โรงเรียนบ้านขุนน้ำน่าน ค่อนข้างชัน คดเคี้ยว และโหดอยู่ไม่เบาเลย ไม่นานนักเราก็มาถึง "สถานีพัฒนาเกษตรที่สูง ตามแนวพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง" ที่นี่ตั้งอยู่ในพื้นที่ดอยขุนน่าน ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เป็นหนึ่งในโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล
อดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้สร้างโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงขึ้นในหมู่บ้าน เนื่องจากทรงพบว่า จ.น่าน มีการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้เป็นจำนวนมาก จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นับเป็นโครงการพระราชดำริแห่งที่ 3 ที่พระราชทานให้แก่จังหวัดน่าน เพื่อให้ความรู้เรื่องการทำนาแบบขั้นบันได การเกษตรที่สูงที่ช่วยรักษาหน้าดินไม่ให้ถูกชะล้างไปกับกระแสน้ำช่วงหน้าฝน ช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำหลากทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายให้เหมาะกับภูมิประเทศ เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และยังเพิ่มรายได้ที่มากขึ้นแก่ชาวบ้านอีกด้วย

สิ่งที่ดึงดูดใจให้มาที่นี่ นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรแล้ว ขวัญว่าคือความสวยของที่นี่ค่ะ ที่นี่มีบ้านพักเล็กๆ ท่ามกลางไร่ชา ซึ่งบริเวณโครงการมีอาคารสำหรับปรุงอาหาร ห้องน้ำ และจุดกางเต้นให้ด้วย ค่าใช้จ่ายในการเข้ามาเสพธรรมชาติที่นี่ก็ตามแต่เราจะสมทบกับทางโครงการค่ะ

จาก สถานีพัฒนาเกษตรที่สูง ตามแนวพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง พวกเราตื่นเช้าเดินทางไปชมวิวต่อ ที่ “บ้านเปียงซ้อ” จากจุดนี้สามารถมองเห็นทั้ง บ้านสะจุก สะเกี้ยง และบ้านห้วยฟอง ที่สำคัญที่นี่ยังเป็นจุดพรมแดนเชื่อมต่อไทยลาว เราสามารถเดินไปชหลักเขตประเทศไทยได้ด้วยค่ะ

เวลาเริ่มคล้อยบ่าย หลังจากที่เราเที่ยวชมความงามตามธรรมชาติของพื้นที่สถานีพัฒนาเกษตรที่สูง ตามแนวพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง และหมู่บ้านเปียงซ้อ อย่างเต็มที่แล้ว ต้องไม่ลืมที่จะรีบเตรียมตัวกลับน่าน เพราะการเดินทางค่อนข้างไกลทีเดียวค่ะ

ระหว่างทางพวกเราแวะไปชมความงามของ “ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” แต่เสียดายฟ้าฝนไม่เป็นใจ และในเวลาที่จำกัดเราเลยต้องขอเก็บไว้มาเยี่ยมชมใหม่รอบหน้าค่ะ

พวกเราถึงตัวเมืองน่านช่วงย่ำค่ำ

ที่พักน่านของพวกเรา ค่ำคืนนี้ พักที่ “โรงแรมพูคาน่านฟ้า” ไม่ได้เขียนผิดแต่อย่างใดนะคะ “พูคา” ในทีนี่มีที่มาจาก ชื่อราชวงค์แรกของอาณาจักรน่าน เมื่อราว 700 กว่าปีมาแล้ว เขียนต่างกับชื่อต้น “ชมพูภูคา” ซึ่งหมายถึงภูเขาหรือก็คือชื่อดอยภูคาค่ะ ... ที่พักของเราสวย สะอาด และมีเสน่ห์มาก

เช้าวันสุดท้ายก่อนกลับ พวกเราเลือกใส่บาตรเช้าที่ตลาดเช้าใกล้ๆที่พัก จากนั้นอาบน้ำแต่งตัว และเตรียมตัวออกไปไว้พระกันค่ะ

สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งแรก ที่ควรเข้ามาสักการะ เมื่อมาเยือนเมืองน่าน “เสาหลักเมือง” หรือ 'เสามิ่งเมือง' เป็นท่อนซุงไม้สักไม้สักทองขนาดใหญ่ 2 คนโอบ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 ฟุต สูงประมาณ 3 เมตร ลักษณะเป็นเสาทรงกลม ส่วนหัวเสาเกลาเป็นรูปดอกบัวตูม ฝังไว้กับพื้นดิน โดยไม่มีศาลหรืออาคารครอบปัจจุบัน ถูกบูรณะเป็นศาลาจัตุรมุขลวดลายปูนปั้นสีขาว ที่มีความวิจิตรตระการตา โดยมียอดพรหมสี่หน้าเป็นตัวอาคาร ซึ่งด้านในจะเป็นที่ประดิษฐานเสาพระหลักเมืองน่าน ที่ผู้มาสักการะได้ทำการปิดทองคำเปลวไว้โดยรอบ จนเสาเป็นสีทองเหลืองอร่ามอยู่กลางศาลาค่ะ

ภายในบริเวณเดียวกัน ด้านหลังศาลหลักเมือง จะเป็น "วัดมิ่งเมือง" เดิมเป็นวัดร้าง มีเสาหลักเมืองที่เป็นท่อนซุงขนาดใหญ่สองคนโอบ พบที่ซากวิหาร ในราวปี 2400 เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าครองนครน่านสถาปนาวัดใหม่ ตั้งชื่อว่า วัดมิ่งเมือง ตามชื่อที่เรียกเสาหลักเมืองว่า เสามิ่งเมือง ต่อมาปี 2527ได้มีการรื้อถอนและสร้างอุโบสถหลังใหม่เป็นแบบล้านนาร่วมสมัยแบบในปัจจุบัน จุดสะดุดตาของวัด คือ ลายปูนปั้นที่ผนังด้านนอกของพระอุโบสถ มีความสวยงามวิจิตรบรรจงมากมาก เป็นฝีมือตระกูลช่าง เชียงแสน มีความวิจิตรงดงามมากจริงๆค่ะ

ไม่ไกลกันนัก พวกเราเดินเท้าไปยัง “วัดภูมินทร์” ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของการเที่ยวเมืองน่าน วัดภูมินทร์เป็นวัดหลวงเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 400 ปีที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมืองน่าน ด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นอาคารทรงจตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทย ทั้งนี้จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารที่เรียกกันว่า “ฮูปแต้ม” ซึ่งได้เขียนขึ้นในช่วงที่วัดภูมินทร์มีภาพ “ปู่ม่านย่าม่าน” อันลือเลื่อง ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นภาพงามเยี่ยมและยังได้รับฉายาว่า “ภาพกระซิบรักบรรลือโลก” อีกด้วย

หลังจากไหว้พระกันเรียบร้อย พวกเราเดินข้ามมาเก็บภาพกับ “ต้นลีลาวดี หน้าพิพิธภัณฑ์สถานน่าน” ซึ่งที่นี่ถือเป็นหนึ่งสถานที่โรแมนติกประจำเมืองน่านเลยค่ะ

ปิดท้ายกันที่ “วัดพระธาตุเขาน้อย” ชมวิวพาโนราคาเมืองน่านกันนะคะ

จบการเดินทางเที่ยวเมืองน่านทริปค่ะ
น่าน... เมืองที่มีเสน่ห์ ไปแล้วต้องไปซ้ำ

มีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังเรืองของการเที่ยวน่านใหม่ค่ะ


วิธีเดินทาง : การเดินทาง มุ่งหน้าสู่เมืองนั้น เราสามารถเลือกใช้บริการของสายการบินและรถทัวร์ได้ทุกวันค่ะ โดย สำหรับรถทัวร์ แนะนำให้ใช้บริการจาก บขส. หรือ บริษัทสมบัติทัวร์ เพราะเดินทางตรงเวลามาก และสำหรับท่านที่มีเวลาน้อยหรืออยากใช้เวลาท่องเที่ยวนานเดินทางสบายเดินทางโดยเครื่องบินสะดวกกว่ามากค่ะ ปัจจุบันท่าอากาศยานน่าน มีบริการบินตรงจาก กรุงเทพฯ น่าน (นกแอร์ วันละ 4 รอบ และ แอร์เอเซีย วันละ 2 รอบ) ซึ่งการจองตัวเครื่องบินให้ได้ดีและถูก แนะนำให้จองผ่าน traveloka ค่ะ

ที่พัก : การเดินทางไปเทียวชมธรรมชาติ เส้นทาง บ้านสะจุก-สะเกี้ยง-เปียงซ้อ นั้น เป็นระยะทางที่ค่อนข้างไกล และใช้เวลาในการเดินทางมาก จึงควรมีเวลาอย่างน้อย 3 วัน 2 คืน เพื่อพักบ้านพักของโครงการ 1 คืน และพักในตัวเมืองน่าน 1 คืน เพื่อชมวัดวาอาราม และวิถีชีวิตเมืองน่านด้วยค่ะ (แอบกระซิบว่าจองที่พักผ่าน traveloka มีที่พักในตัวเมืองน่านลดราคาเยอะเลยค่ะ โดยเฉพาะวันจันทร์นะคะ)

จองที่พักในน่าน กับ Traveloka ได้ที่นี่

รายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยว “สถานีพัฒนาเกษตรที่สูง ตามแนวพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง” เบอร๋ติดต่อ หัวหน้าโครงการ นายพงษ์ศักดิ์ : 084 818 1008

ค่าใช้จ่ายทั้งหมด (ต่อการเดินทาง 2 คน)

ค่ารถไป-กลับ กทม. น่าน 2,044.00 บาท
ค่าเหมารถท้องถิ่นไปยังโรงเรียนบ้านขุนน้ำน่าน (ไป-กลับ) 5,000.00 บาท
ค่ารถ 4WD ไปสถานีพัฒนาเกษตรที่สูงฯ 1,000.00 บาท
ค่าที่พักสถานีพัฒนาเกษตรที่สูงฯ 1 คืน 1,200.00 บาท
ค่าที่พักโรงแรมพูคาน่านฟ้า 1 คืน 2,798.60 บาท
ค่าเหมารถเที่ยว ตัวเมืองน่าน 1,000.00 บาท

รวมค่าใช้จ่าย (ไม่รวมอาหาร/ของฝาก) 13,042.60 บาท

เขียนและถ่ายภาพโดย คุณมนัสพันธ์ พันธ์บุรี

จากกิจกรรม ค้นหา Blogger สายเที่ยว

รับทราบข้อมูลใหม่ ๆ ตลอดเวลา
สมัครรับจดหมายข่าวของเรา เพื่อคำแนะนำการท่องเที่ยวและรูปแบบการใช้ชีวิตที่มากขึ้น พร้อมด้วยข้อเสนอที่น่าตื่นเต้น
สมัคร