0

Traveloka TH

17 Mar 2019 - 6 min read

10 ที่เที่ยวเมืองแพร่ แค่ลองไปเที่ยว แล้วจะหลงรัก

เมืองแพร่หรือ “เวียงโกศัย” หัวเมืองสำคัญของล้านนามาตั้งแต่อดีต มีประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องยาวนาน เปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมประเพณีอันงดงาม ตึกรามบ้านช่องวัดวาอารามโดดเด่นด้วยงานสถาปัตยกรรมอันวิจิตรบรรจง สวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แพร่เป็นเมืองที่มีเสน่ห์ดึงดูดชักชวนให้ผู้คนไปสัมผัสไปเยือนสักครั้ง เมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบอันเป็นประตูเมืองแห่งล้านนา คือ มีธรรมชาติที่สวยงามและบริสุทธิ์ มีเรือนไม้โบราณอีกทั้งของสะสมล้ำค่าให้เยี่ยมชม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ยึดเหนี่ยวจิตใจ วัดวามากมายให้แวะสักการะ เพื่อมงคลแก่ชีวิต

แวะมาดูกันสักนิด ว่า 10 ที่เที่ยวต้องห้ามพลาดแห่งเมืองแพร่ มีที่ไหนบ้าง จะได้วางแผนเที่ยวกันแบบไม่ต้องคิดเยอะ...ไงละ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการเดินทาง แนะนำสำหรับคนที่ไม่มีเวลามาก แต่อยากไปเที่ยวแพร่ เดี๋ยวนี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องนั่งรถแล้วนะ เพราะว่ามีตั๋วเครื่องบินตรงไปแพร่ให้เลือกจองใน Traveloka จุดเด่นคือง่าย สะดวก รวดเร็ว และประหยัดเวลาไปได้เยอะ ถ้าอยากเที่ยวแพร่แต่ไม่มีเวลา ก็กดจองเที่ยวบินเลย!

10 ที่เที่ยวแพร่

1. วัดพระธาตุช่อแฮ (Prathat Cho Hae Temple)

ปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแพร่ เป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า องค์พระธาตุช่อแฮเป็นเจดีย์ศิลปะเชียงแสน ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้ 12 บุด้วยทองดอกบวบหรือทองจังโก สำหรับชื่อพระธาตุช่อแฮนั้น บ้างว่าได้มาจากชื่อผ้าแพรชั้นดี ทอจากสิบสองปันนา และชาวบ้านนำมาผูกบูชาพระธาตุ เป็นพระธาตุ 1 ใน 12 ราศี เป็นพระธาตุประจำปีเกิด สำหรับคนที่เกิดปีขาลตามคติความเชื่อของทางภาคเหนือ หากนำผ้าแพรสามสีไปถวายจะทำให้ชีวิตมีพลังคุ้มครองป้องกันศัตรูได้

ทุกปีจะมีประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน จะเริ่มขึ้นในวันขึ้น 9 ค่ำเดือน 4 ใต้ เดือน 6 เหนือ ของทุกปี ยึดถือตามจันทรคติเป็นหลัก หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนมีนาคม ด้วยความเชื่อว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว พระบรมสารีริกธาตุจะแสดงปาฏิหาริย์ แผ่บารมีที่เป็นสิริมงคลยิ่งแก่ผู้มาสักการะ จึงมีการทำพิธีสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนเป็นงานประเพณีประจำปีอันยิ่งใหญ่ของจังหวัดแพร่ มีขบวนแห่งตุงหลวงถวายองค์พระธาตุและมหรสพตลอดงาน

2. วนอุทยานแพะเมืองผี (Phae Muang Phi Forest Park)

สถานที่ท่องเที่ยวโด่งดังของจังหวัด มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ เป็นปรากฏการณ์ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ นักธรณีวิทยาประมาณอายุว่าน่าจะเกิดขึ้นไม่เกิน 2 ล้านปี เดิมพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นลำน้ำ มีดิน หิน ทราย กรวด ทับถมเป็นตะกอนมานับหมื่นปี ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวโลก เกิดรอยเลื่อนยกตัว เมื่อมีฝนตกเกิดการชะล้าง ทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ แต่การพังทลายไม่เท่ากันตามชนิดของตะกอน จึงเกิดเป็นพื้นที่สูงต่ำ และมีรูปทรงต่างกันไป ดูแปลกตายิ่งนัก

ส่วนชื่อ “แพะเมืองผี” นั้นมาจากภาษาพื้นเมือง “แพะ” แปลว่า ป่าละเมาะ ส่วนคำว่า “เมืองผี” แปลตรงตัวได้ว่า เงียบเหงาวังเวงเหมือนเมืองผี ประมาณว่าอาจเกิดจากสภาพภูมิประเทศที่ดูเร้นลับน่ากลัว แนะนำว่าควรไปเยี่ยมชมในช่วงเช้า หรือถือร่มติดมือไปด้วยก็จะดีไม่ใช่น้อย

3. บ้านทุ่งโฮ้ง (Thung Hong House)

“หม้อฮ่อม” ผ้าย้อมสีกรมท่า เอกลักษณ์ของชาวเมืองแพร่ที่โด่งดังไปทั่วโลก ในเมืองแพร่มีแหล่งผลิตที่สำคัญ 3 แหล่งใหญ่ ๆ คือ บ้านพระหลวง บ้านเวียงทอง และ บ้านทุ่งโฮ้ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุด ตั้งอยู่ที่ชุมชนทุ่งโฮ้ง ห่างจากตัวเมืองไม่ถึง 10 กิโลฯ ร้านรวงเรียงรายบนถนนที่ถูกขนานนามว่า “ถนนสายหม้ออ่อม” ล้วนเป็นร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าหม้อฮ่อม ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นตำนานผ้าเมืองแพร่

ถ้าหากใครมีโอกาสได้มาเยือนที่เที่ยวเมืองแพร่เหล่านี้ แนะนำให้ลองมาชมกรรมวิธีทำผ้าหม้อห้อมของชาวไทพวน ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว ออกแบบลายและย้อมผ้าหม้อฮ่อมด้วยตัวเอง โดยมีผู้ให้คำแนะนำอย่างเป็นกันเอง เลือกซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า และของที่ระลึกต่างๆ ที่ทำจากหม้อฮ่อม หลากหลายดีไซน์ ให้เลือกทั้งแบบดั้งเดิม และแบบแฟชั่นจ๋า รับรองซื้อเพลินเกิน 1 ชิ้น แน่นอน

4. วัดจอมสวรรค์ (Chom Sawan Temple)

วัดเก่าแก่โบราณมีเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นในรูปแบบสถาปัตยกรรมศิลปะไทยใหญ่ ตั้งอยู่บนถนนยันตรกิจโกศล ตำบลทุ่งกวาว ห่างจากศาลากลางจังหวัด 1 กิโลเมตร วัดสร้างเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 โดยชาวไทใหญ่ หลังคาเล็กใหญ่ซ้อนลดหลั่นกันไป ประดับประดาลวดลายฉลุ อารามเป็นไม้สัก ใช้เป็นทั้งโบสถ์ วิหาร และกุฏิ ภายในตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง เสาไม้มีทั้งลงรักปิดทองและประดับกระจกสีงดงามด้วยลวดลายแบบไทใหญ่ ลวดลายเพดานตกแต่งด้วยกระจกสีต่างๆ เป็นรูปสัตว์หิมพานต์

ภายในวัดมีหลวงพ่อสาน เป็นพระพุทธรูปที่สร้างโดยใช้ไม้ไผ่สานเป็นองค์ และมีพระพุทธรูปงาช้างเป็นศิลปะแบบพม่า คัมภีร์งาช้างหรือคัมภีร์ปาติโมกข์ โดยนำงาช้างมาบดอัดเป็นแผ่นบางๆ เขียนลงรักแดงจารึกเป็นอักษรพม่า อีกทั้งยังมีบุษบกลวดลายวิจิตรงดงามประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ที่คล้ายกับเจดีย์ชเวดากอง มีรูปทรงแบบพม่า คือ มีเจดีย์ใหญ่อยู่กลางรายล้อมด้วยเจดีย์เล็กทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 3 องค์ เปิดให้เยี่ยมชมตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ไม่มีวันหยุด

5. คุ้มเจ้าหลวง (Khum Chaoluang)

สถานที่เก่าแก่โบราณนับร้อยปีที่อยู่คู่เมืองแพร่มายาวนาน โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป หรือที่เรียกกันว่า “ทรงขนมปังขิง” ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2435 โดยเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าเมืองแพร่องค์สุดท้าย เป็นอาคารสีเขียวอ่อน 2 ชั้น ก่อด้วยอิฐฉาบปูน หลังคาทรงปั้นหยา เชิงชายประดับด้วยไม้แกะฉลุสลักลวดลายอย่างประณีตสวยงาม โดยเฉพาะโครงสร้างอาคารพิเศษตรงที่ไม่มีเสาเข็ม ใช้เพียงไม้ซุงเนื้อแข็งรองรับฐานเสาทั้งหลัง ภายในอาคารโอ่โถง หรูหรา และยังคงมีข้าวของเครื่องใช้ในอดีตของเจ้าหลวงที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์

ส่วนใต้ถุนเป็นคุกใต้ดินลึก 2.30 เมตร สำหรับขังทาสและนักโทษ พื้นอาคารชั้น1 จะสังเกตเห็นว่ามีช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กหลายๆ ช่องที่สามารถเปิดปิดได้ ช่องนั้นทำไว้สำหรับสอดส่องและหย่อนอาหาร ลือกันว่าหลังกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ พ.ศ.2445 เจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ลี้ภัยไปอยู่หลวงพระบาง คุ้มจึงถูกทิ้งร้าง แต่ตำนานอันน่าสะพรึงกลัวและอาถรรพ์ลี้ลับยังคงถูกเล่าสืบมาจนถึงทุกวันนี้

6. คุ้มวงศ์บุรี (Khum Wong Buri)

ภายใต้ตัวอาคารสีชมพูหวานสมฉายา “บ้านสีชมพู” ของ "คุ้มวงศ์บุรี" บนถนนหลังจวนผู้ว่า สี่แยกพระนอนเหนือนั้น ถูกออกแบบในรูปแบบสถาปัตยกรรมเรือนขนมปังขิงตามความนิยมกันในสมัยรัชกาลที่ 5 ในอดีตเคยเป็นคุ้มเจ้านายเมืองแพร่ ผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าฟ้าชายสาม จุฬามณีศิริเมฆภูมินทร์ แห่งเชียงตุง "ราชวงศ์มังราย" สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2440 ตามดำริของเจ้าแม่บัวถา ชายาองค์แรกของเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่

ภายในจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ของตระกูลที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ได้แก่ เครื่องเรือน เครื่องเงิน เครื่องปั้นดินเผา เอกสารสำคัญ เช่น เอกสารการซื้อขายทาสที่มีอายุกว่า 100 ปี เอกสารการสัมปทานป่าไม้ ตั๋วรูปพรรณช้าง ตั๋วรูปพรรณวัว ด้วยความสวยงามโดดเด่นทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ บ้านวงศ์บุรีได้รับการยกย่องให้เป็น“อาคารอนุรักษ์ดีเด่น” ประจำปี 2536 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และยังเคยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ ละคร และสารคดีทั้งไทยและต่างประเทศอีกด้วย

7. สถานีบ้านปิน (Baan Pin Station)

ห่างจากตัวเมืองออกไปทางตะวันตกกว่า 40 กิโลเมตร จะพบสถานีบ้านปิน สถานีรถไฟแห่งเดียวของไทยที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบบาวาเรียนเฟรมเฮาส์ หรือแบบโครงไม้ ซึ่งเป็นแบบที่ได้รับความนิยมในแคว้นบาราเรียนของเยอรมัน ผสมกับสถาปัตยกรรมแบบไทยคือเรือนปั้นหยาซึ่งกำลังได้รับความนิยมในยุคนั้น (รัชกาลที่ 6) เป็นอาคาร 2 ชั้น ตัวตึกประกอบด้วยไม้ หลังคาจั่วปั้นหยา ประตูหน้าต่างเป็นบานลูกฟักไม้ เหนือประตูหน้าต่างและหน้าช่องจำหน่ายตั๋วประดับด้วยไม้ฉลุลายพรรณพฤกษาสวยงามยิ่งนัก ส่วนหน้าสถานีจะมีหอประแจ และข้างสถานีจะมีหอเติมน้ำสำหรับรถจักรไอน้ำ แม้ปัจจุบันเลิกใช้งานแล้ว แต่ก็ได้รับการอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบเดิม สถานีรถไฟบ้านปินจัดเป็นสถานีรถไฟระดับ 3 ที่มีปูมประวัติที่น่าสนใจยืนนานมากว่า 100 ปี โดยเพิ่งฉลองครบรอบ 104 ปี ไปเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา

8. วัดพงษ์สุนันท์ (Phong Sunan Temple)

เป็นวัดที่สร้างอยู่ในพื้นที่บ้านวงศ์บุรีในเขตกำแพงเมืองเก่า เดิมเป็นวัดร้างชื่อ "วัดปงสนุก" ต่อมามีบันทึกว่า เมื่อปี พ.ศ. 2475 ผนังวิหารได้พังทลายจากเหตุน้ำท่วม หลวงพงษ์พิบูลย์ (พรหมวงศ์พระถาง) และภรรยาของท่านคือ เจ้าสุนันตามหายศปัญญา จึงเป็นผู้นำในการบูรณะวัดและสร้างวิหารใหม่ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพงษ์สุนันท์” และตั้งเป็นวัดประจำตระกูลวงศ์บุรีแต่นั้นมา ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ชื่อว่า “พระเจ้าแสนสุข” มีอายุราว 568 ปี

เสนาสนะภายในบริเวณวัดมีพระนอนองค์ใหญ่สีทองอร่าม ซุ้มประตูมงคล 19 ยอด มีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปสกุลดำเก่าแก่ มีวิหารแก้วองค์พระธาตุเจดีย์ 108 ยอด ที่เป็นวิหารสีขาวทั้งหลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงลูกแก้ว ภายในวิหารมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่นามว่า “พระสุรัสวดีประทานพร” และองค์เล็กที่ทำจากไม้ขนุนทั้งองค์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระพุทธรูปในจังหวัดแพร่ ใครจังหวะดีได้ไปสักการะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ถือโอกาสร่วมงานประเพณีงานสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ งานไหว้สาพระธาตุพงษ์สุนันท์มงคล นับเป็นโชคดีสิริมงคลแก่ชีวิตยิ่งนัก

9. วัดศรีดอนคำ (Wat Sridonkam)

วัดศรีดอนคำหรือ วัดห้วยอ้อ ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง เป็นพระธาตุเก่าแก่ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนกระดูกหน้าอกของพระพุทธเจ้า ความโดดเด่นของวัดนี้คือ “ระฆังระเบิด” ที่ทำจากลูกระเบิดที่ตกลงมาในช่วงสงครามเอเซียบูรพาหรือ สงครามโลก ครั้งที่ 2 ด้วยภูมิปัญญาของชาวบ้านได้ควักดินปืนไประเบิดหาปลาเหลือเพียงปอกของระเบิด ชาวบ้านเสียดายจึงแบกหามใส่เกวียนถวายวัดทำระฆัง อันเป็นที่มาของคำว่า "แพร่แห่ระเบิด" และที่ยังมี "พิพิธภัณฑ์พระเจ้าพร้าโต้" ซึ่งเป็นที่รวบรวมของพระพุทธรูปที่ทำจากไม้ที่เก่าแก่จำนวนมากมาย

และที่พิเศษกว่าองค์อื่นๆ คือ “พระเจ้าพร้าโต้” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนาผสมเชียงรุ้งที่ทำจากไม้แก่นจันทร์ทั้งต้น สร้างโดยการใช้มีดพร้าหรือมีดโต้แกะสลักพระพุทธรูป อันเป็นที่มาของชื่อ “พระเจ้าพร้าโต้” ซึ่งสร้างเสร็จภายใน 1 วัน ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน และนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พระเจ้าทันใจ” เชื่อกันว่า ขอพรอันใด สำเร็จสมประสงค์ทันใจสมชื่อทีเดียวเชียว

10. อุทยานแห่งชาติดอยผากลอง (Doi Phaklong National Park)

สถานที่สุดท้าย ผ่อนคลายความเหนื่อยล้าด้วยการสัมผัสธรรมชาติกันดีกว่า ที่อุทยานแห่งชาติลำดับที่ 107 ของประเทศไทย มีพื้นที่กว้างไกลถึง 3 อำเภอ คือ อำเภอลอง อำเภอเมือง และอำเภอสูงเม่น มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงามคือภูเขาหินปะการัง เกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลก และการชะล้างพังทลายของหินที่ใช้เวลาหลายล้านปี มีลักษณะคล้ายปะการัง เป็นจุดพักแรมกางเต็นท์ ถัดจากจุดนี้คือ “สวนหินมหาราช” ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นราชสักการะและเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาเกี่ยวกับพันธุ์ไม้และสัตว์ ณ มุมสงบสวนสมุนไพร และว่านนานาชนิด หินทั้งหมดในสวนหินมหาราชมีรูปร่างแปลกๆ มากมายหลายจุด

แต่ที่เป็นไฮไลท์สุดๆ คือ “หินไดโนเสาร์” อีกหนึ่งจุดที่ไม่ควรพลาดชม “แก่งหลวง” เป็นโขดหินกว้างกลางแม่น้ำยม เหมาะสำหรับล่องแก่งยิ่งนัก ฝั่งตรงข้ามถ้ำหลวงคือ “ถ้ำเอราวัณ” ซึ่งมีโถงถ้ำใหญ่กว้างขวางและมีหินงอกหินย้อยงดงาม สอบถาม

ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: อุทยานแห่งชาติดอยผากลอง จังหวัดแพร่ โทร. 0 5450 1145

จริงๆ แล้ว “แพร่” มีสถานที่น่าสนใจให้แนะนำอีกมากมาย เอาใจทั้งขาลุย บุกป่าฝ่าดง ผู้หลงใหลในงานศิลป์ นิยมของสะสม หรือผู้รักสงบ ชอบเข้าวัดทำบุญ ว่าแต่ว่า เตรียมลางาน จ้องวันหยุดยาวไว้...แล้วไปแอ่วแพร่กัน

รับทราบข้อมูลใหม่ ๆ ตลอดเวลา
สมัครรับจดหมายข่าวของเรา เพื่อคำแนะนำการท่องเที่ยวและรูปแบบการใช้ชีวิตที่มากขึ้น พร้อมด้วยข้อเสนอที่น่าตื่นเต้น
สมัคร