0

Traveloka TH

25 Jan 2019 - 17 min read

"อินเดีย" ยิ่งรู้จัก ยิ่งหลงรัก ทริปอินเดียเที่ยวง่ายกว่าที่คิด!

“นมัสเต” เสียงทักทายที่มาพร้อมรอยยิ้มกว้างในทุกมุมเมืองที่ไปเยือน มิตรภาพคือของขวัญที่งดงามจากการเดินทาง เคยสงสัยไหมว่าทำไมทุกวันนี้คนไทยหันมาเที่ยวอินเดียมากขึ้น อินเดียไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเดินทางไปจาริกแสวงบุญเพียงอย่างเดียว คนตั้งฉายาให้ภูเขาที่ลาดักห์ (Ladakh) เป็นสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย ทัชมาฮาล (Taj Mahal) อนุสรณ์สถานแห่งความรักคือหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ที่ต้องมาเยือนสักครั้งในชีวิต เทศกาลโฮลี (Holi Festival) เทศกาลแห่งสีสันที่ดึงดูดให้คนทั่วโลกอยากมาสัมผัส ... อินเดียมีดีอีกมาก

ก่อนหน้านี้ได้ฟังเรื่องราวอินเดียมามาก เรื่องที่คนมักพูดถึงคงไม่พ้นเรื่องของเมืองไม่สะอาด ขอทานเยอะ แถมอันตรายสูง แต่ทำไมหลายคนยังเลือกที่จะไปอินเดีย ของแบบนี้ไม่ลองไม่รู้ ยิ่งได้ฟังยิ่งอยากไปสัมผัส เที่ยวรอบนี้เรามีเวลาทั้งสิ้น 8 วัน ด้วยความที่ชื่นชอบงานศิลปะและสถาปัตยกรรมสวย ๆ ปลายทางจึงมุ่งไปด้านฝั่งตะวันตกของอินเดียคือ รัฐราชสถาน (Rajasthan) และข้ามไปรัฐติดกันซึ่งตั้งทางตอนเหนือของอินเดียคือ รัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) เรียกว่าเจอครบทุกฟิลลิ่ง รัก สนุก ผจญภัย กระทั่งแอบเซ็ง สุดท้ายการเดินทางครั้งนี้เปลี่ยนทัศนคติและมุมมองของเราที่มีต่ออินเดียไปตลอดกาล เราพกพาอินเดียในความรู้สึกใหม่กลับบ้าน ชวนทุกคนมารู้จักอินเดียไปด้วยกันแล้วคุณจะยิ่งรู้จัก ยิ่งหลงรัก “อินเดีย”

“อินเดีย” เที่ยวง่ายกว่าที่คิด

Visa เที่ยวอินเดียต้องมีวีซ่า ซึ่งทุกวันนี้เพิ่มช่องทางผ่านระบบออนไลน์เป็น E-visa เพื่อให้นักท่องเที่ยวสะดวกสบายไม่ต้องเดินทางไปสถานทูต ใช้เวลาดำเนินการรอประมาณ 24 ชั่วโมงก็จะทราบผลการอนุมัติ โดย E-visa สามารถขอได้เร็วสุด 120 วันก่อนเดินทางและช้าสุด 4 วันก่อนเดินทาง ใช้เข้าออกอินเดียได้ 2 ครั้ง โดยมีอายุวีซ่า 60 วันนับจากวันที่ประทับตราครั้งแรก เมื่อถึงวันเดินทางก็นำ E-visa ที่ได้รับการอนุมัติแล้วปริ้นท์เป็นกระดาษแนบคู่กับ Passport ยื่นกับ ตม. สนามบินปลายทาง ซึ่ง E-visa สามารถใช้ได้แค่บางสนามบินของอินเดียเท่านั้น โดยเราสามารถขอ E-visa และเช็ครายชื่อสนามบินที่ใช้ได้ที่เว็บไซต์ : https://indianvisaonline.gov.in/evisa/tvoa.html กรอกประวัติส่วนตัว รายละเอียดการเดินทาง (ไม่ต้องใช้ Bank Statement) และเตรียมเอกสารสำหรับอัพโหลดและจ่ายเงิน ได้แก่รูปถ่ายพื้นหลังสีขาว ขนาด 1x1 นิ้ว เป็นไฟล์ .jpg หน้าสแกน Passport อายุต้องเหลือไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เป็นไฟล์ .pdf และบัตรเครดิต Visa หรือ Master Card ของตัวเองหรือใครก็ได้ สำหรับชำระเงินค่าวีซ่าประมาณ 85 USD
การแลกเงิน อินเดียใช้สกุลเงินรูปี (INR) นำค่าเงินรูปีหารครึ่งก็จะเทียบเท่ากับค่าเงินบาทไทย (THB) อินเดียเป็นประเทศที่ค่าครองชีพไม่สูง ค่าอาหารการกิน ค่าเช่ารถต่าง ๆ ราคาใกล้เคียงกับบ้านเรา แต่เวลาช้อปปิ้งสินค้าจะตั้งราคาไว้ค่อนข้างสูงต้องชักแม่น้ำทั้งห้ามาต่อรองขอหั่นครึ่งจากราคาป้ายไปเลย ตอนแรกเขาอาจจะไม่ยอมแต่พอทำท่าจะเดินออกจากร้าน OK Madame! จะมาทันที การแลกเงินรูปีแนะนำให้แลกจากไทยเลย สามารถแลกได้ที่ธนาคารและสถานที่รับแลกเงินต่าง ๆ การเตรียมเงินดอลล่าร์ (USD) ไปแลกที่อินเดียค่อนข้างยุ่งยากและต้องรอคิวนาน และควรเตรียมเงินปลีกไว้ให้มาก สำหรับจ่ายทิปพนักงาน ค่าไกด์สถานที่ ซึ่งต้องเสียยิบเสียย่อย
ซิมโทรศัพท์ แนะนำหาซื้อจากไทยเช่นกัน เราเลือก AIS SIM2Fly ใช้งานเฉพาะ Internet Non-Stop 4GB นาน 8 วัน ราคา 399 บาท ถือว่าสัญญาณแรงดีเกือบทุกจุด
ข้อมูลพื้นฐาน อินเดียแบ่งเขตการปกครองเป็น 29 รัฐ ซึ่งแต่ละรัฐก็จะมีเมืองหลักเป็นแหล่งรวมเศรษฐกิจของตัวเอง เวลาในอินเดียช้ากว่าไทย 1 ชั่วโมง 30 นาที สภาพภูมิอากาศฤดูร้อนที่อินเดีย (เมษายน-มิถุนายน) มีคนบอกร้อนจนตัวจะระเบิดอุณหภูมิ 40 กว่าองศา แนะนำควรเที่ยวช่วงฤดูหนาว (ตุลาคม-มีนาคม) อากาศกำลังเย็นสบาย คนอินเดียใช้ภาษาอังกฤษได้ดีมาก สำเนียงรัว ๆ อาจเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างแต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการท่องเที่ยว การเข้าชมสถานที่ต่าง ๆ เก็บค่าเข้าชมเกือบทุกแห่ง อย่าลืมพก Passport ติดตัวตลอดเพราะบางสถานที่มีส่วนลดพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยด้วย

ลดแล้ว ลดอีก เมื่อจองตั๋วเครื่องบินและที่พักกับ Traveloka

เที่ยวรัฐราชสถาน (Rajasthan) ต้องเลือกลงสนามบินปลายทางที่เมืองชัยปุระ (Jaipur) สายการบินจากประเทศไทยที่คนนิยมบินตรงคือ Thai Smile และ Thai AirAsia การจองตั๋วผ่าน Traveloka ลดแล้วลดอีกยังไง? Traveloka เป็นผู้ช่วยหลักสำหรับ Budget Traveler อย่างเรา ทุกครั้งที่จองตั๋วเครื่องบินเราจะเทียบราคาระหว่างหน้าเว็บไซต์สายการบินที่ต้องการกับ Traveloka Mobile App ผลลัพธ์คือบ่อยครั้งที่ราคาตั๋วที่จองผ่าน Traveloka ถูกกว่าราคาจองตรงผ่านสายการบินกว่าครึ่ง แถมยังมีโค้ดส่วนลดราคาให้อีกต่อหนึ่ง เรียกว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

การจองที่พัก หลายคนกังวลว่าจะเที่ยวต่างประเทศเองต้องจองที่พักยังไง ไม่ยากเลยแค่ค้นหาผ่าน Traveloka Mobile App จะมีที่พักเรียงรายมาให้เลือกมากมายพร้อมข้อมูลที่ช่วยให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้น อินเดียเป็นประเทศที่มีที่พักหลากหลาย เกสท์เฮาส์ โฮสเทล ไปจนถึงโรงแรมระดับมากกว่า 5 ดาว เที่ยวรอบนี้ค่อนข้างกังวลเรื่องที่ตั้งของที่พักในเมืองอัครา (Agra) เพราะต้องการที่พักจุดที่ไม่ไกลจากทัชมาฮาล เพียงค้นหาผ่าน Traveloka Mobile App ใส่พิกัดที่ต้องการ จะไล่เลียงที่พักพร้อมบอกระยะทางมาให้เราเลือกเสร็จสรรพ พร้อมโค้ดส่วนลดอีกเช่นเคย

จองตั๋วเครื่องบินไปชัยปุระ (Jaipur) กับ Traveloka

เส้นทางเที่ยวอินเดีย

เวลา 8 วัน 6 คืน ของเราจะเที่ยวในเขตรัฐราชสถาน (Rajasthan) เป็นหลัก ประกอบด้วย 3 เมือง คือ เมืองชัยปุระ (Jaipur) เมืองจ๊อดปูร์ (Jodhpur) เมืองพุชการ์ (Pushkar) และข้ามไปฝั่งรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) เมืองอัครา (Agra) คิดจะเที่ยวอินเดียควรมีเวลาหลายวัน เนื่องจากเมืองแต่ละแห่งตั้งห่างกัน บางเมืองอาจต้องใช้เวลาเดินทางเป็นวัน แถมในช่วงกลางวันรถติดมหาศาล วิธีการเดินทางที่นักท่องเที่ยวนิยมเลือกใช้เพื่อเดินทางข้ามเมืองคือ รถไฟ แต่ถ้ามีสมาชิกผู้ร่วมหารหลายคนการเลือกใช้บริการรถส่วนตัวพร้อมคนขับเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด สะดวกสบาย กระชับเวลา และปลอดภัย เราเองก็เลือกการเช่ารถพร้อมคนขับเช่นกัน

แนะนำ Ranthambore Tour Cab ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ : http://www.ranthamborecab.com/ โดยส่งแพลนการเดินทางให้บริษัทรถล่วงหน้าประมาณ 2 เดือนก่อนเดินทาง ตกลงง่าย รถใหม่และสะอาด ตรงต่อเวลา บริการดี และราคาประหยัด รถของเราเป็น Toyota Innova เวลาเช่า 6 วัน ราคา 30,000 รูปี (ราคารวมตั้งแต่ค่าเช่ารถ ค่าคนขับ ค่าน้ำมัน และค่าทางด่วน ส่วนเงินทิปคนขับแล้วแต่ความพึงพอใจของเรา)

8 วัน 6 คืน ยิ่งรู้จัก ยิ่งหลงรัก

คนอินเดียมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมที่ทำให้เราแปลกใจหลายอย่าง ซึ่งล้วนแต่เรียกรอยยิ้มเราได้เสมอ เที่ยวอินเดียนึกว่าตัวเองเป็นดารามีคนมาสะกิดขอถ่ายรูปตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าสวย (ฮ่า ฮ่า) แต่คนอินเดียมีนิสัยชอบการถ่ายรูปมากและการได้ถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวนั้นโคตรเท่ บนท้องถนนเสียงแตรรถกังวานลั่น แต่ไม่มีการลงรถมาด่าทอกัน แถมท้ายรถเกือบทุกคันจะมีประโยคว่า Horn Please! โปรดบีบแตรใส่ฉันเถิด เพราะเขาเชื่อว่า Good Horn Good Brakes Good Luck คนอินเดียรอบกายเราน่ารัก สัมผัสได้ถึงความตั้งใจและใส่ใจ หากเราขอในสิ่งที่เขาทำให้ได้คำว่า No Problem จะกล่าวออกมาทันที ทุกครั้งที่เขาทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายเสร็จจะถามเราเสมอ Are you OK? แม้กระทั่งเวลาเดินไปไหนมาไหน เราจะเห็นรอยยิ้มและการโบกมือทักทายตลอดเวลา

วันที่ 1

เราออกเดินทางโดยสายการบิน Thai AirAsia จากกรุงเทพฯ (เวลา 21.05 น.) สู่เมืองชัยปุระ ใช้เวลาบิน 4 ชั่วโมง 30 นาที ถึง Jaipur International Airport เวลาประมาณเกือบตี 2 ตอนแรกตัดสินใจกันว่าจะนอนที่สนามบิน แต่ก่อนเดินทางไม่กี่วันลองเข้าไปค้นหาที่พักใกล้สนามบินจาก Traveloka Mobile App เจอที่พักดีและราคาถูกรอบสนามบินหลายแห่ง เลยตัดสินใจว่าฉันควรสวยรับวันใหม่เลือกนอนที่ Zade House Jaipur แนะนำต่อที่พักใกล้สนามบินเดินทาง 5 นาทีถึง และห้องพักดีเกินราคามาก ซึ่งบริเวณด้านหน้าสนามบินมีเคาน์เตอร์บริการรถ Taxi เราเหมามาส่งที่พักในราคา 150 รูปี

วันที่ 2

เรานัดรถจาก Ranthambore มารับ (เวลา 07.00 น.) แพลนวันนี้เรียกว่าโตในรถก็ไม่ผิดนอนยาวไป เราจะเดินทางข้ามไปยัง รัฐอุตตรประเทศ เมืองอัครา เพื่อสัมผัสกับสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลาทัชมาฮาลในวันรุ่งขึ้น ใช้เส้นทางด้านทิศตะวันออกของรัฐราชสถาน ระยะทางประมาณ 240 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง 30 นาที ที่เมืองอัคราเราเลือกนอนที่ Hotel Dazzle Agra ทำเลดีเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 5 นาทีก็ถึงทางเข้าทัชมาฮาล และยังใกล้แหล่งอาหารยังชีพอย่างร้าน KFC และ Pizza Hut ด้วย

แชนด์ เบารี (Chand Baori) ตั้งอยู่ระหว่างทางที่จะเดินทางไปเมืองอัครา เป็นบ่อน้ำขั้นบันไดที่ลึกและใหญ่ที่สุดในอินเดีย สร้างตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 9 โดยการระดมชาวบ้านมาช่วยกันสร้าง เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในหมู่บ้าน (ไม่มีค่าเข้าชม)

วันที่ 3

อินเดีย เป็นประเทศที่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของความรักนั้นยิ่งใหญ่ ความรักระหว่างหนุ่มสาว ความรักต่อเทพเจ้าที่ศรัทธา ถูกถ่ายทอดเรื่องราวผ่านงานสถาปัตยกรรม ประเพณี และวิถีชีวิตที่งดงามของคนอินเดีย

ทัชมาฮาล (Taj Mahal) สัญลักษณ์สำคัญของอินเดีย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมุนา (Yamuna) เป็นสุสานหินอ่อนอนุสรณ์สถานแห่งความรักของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ที่สร้างให้แก่ มัมทัส มาฮาล พระมเหสีผู้เป็นที่รักยิ่ง ใช้เวลาสร้างและตกแต่งกว่า 22 ปี ระดมคนงานและช่างฝีมือร่วมในการก่อสร้างประมาณ 20,000 คน ซึ่งสูญเสียงบไปมหาศาล ถึงแม้เรื่องจะจบลงที่ความเศร้าใจ แต่อานุภาพแห่งรักยังคงตราตรึงใจคนทั้งโลก

ข้อควรรู้ในการเข้าชมทัชมาฮาล :

ทัชมาฮาล เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 05.30-17.00 น. และปิดทุกวันศุกร์ การเลือกเข้าชมในวันธรรมดาคนจะน้อยกว่าวันเสาร์อาทิตย์ เราเองเลือกวันจันทร์ตื่นไปต่อแถวซื้อตั๋วตั้งแต่เวลา 05.30 น. รอไม่ถึง 10 นาทีก็ได้เข้าชม
โชว์ Passport คนไทยเวลาซื้อตั๋ว ได้ส่วนลดค่าเข้าครึ่งราคาเหลือที่ราคา 530 รูปี ได้น้ำเปล่า 1 ขวด พร้อมถุงหุ้มรองเท้า
ก่อนเข้าสู่ทัชมาฮาลต้องผ่านการสแกนตัว ดังนั้นของที่ไม่จำไม่ต้องพกไป สิ่งของต้องห้าม เช่น อาหาร ขาตั้งกล้อง ไม้เซลฟี่ อุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดประกายไฟต่าง ๆ หากค้นเจอจะต้องเสียเวลาไปต่อแถวฝากที่ล็อคเกอร์ฝากของ

ตามธรรมเนียมถ่ายรูปกันหน่อย ตอนแรกก็มีไม่กี่คนแต่พอถ่ายไปถ่ายมาทำไมเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ก็สนุกสนานกันไป

การล่องเรือชมทัชมาฮาลนั้นขึ้นอยู่กับดวง เพราะบางวันก็มีเรือบางวันก็ไม่มีเรือ ซึ่งต้องเดินออกจากทัชมาฮาลประตูด้านฝั่งตะวันออก (Eastern Gate) เดินเลาะกำแพงไปประมาณ 500 เมตร สุดทางจะเห็นเรือจอดอยู่ในแม่น้ำยมุนา ซึ่งสามารถล่องเรือได้ไกลๆ เท่านั้น มิสามารถเข้าไปในเขตทัชมาฮาลได้ คนละ 1,000 รูปีหรือแล้วแต่เจรจาต่อรอง

หลังจากนั้นเราแวะไปร้านขายของที่ระลึกซึ่งถือเป็นต้นตระกูลเปอร์เซียผู้สืบทอดการทำ Mable Inlay ของทัชมาฮาล

ป้อมอัครา (Agra Fort) อนุสรณ์สถานสำคัญอีกหนึ่งแห่งและเป็นมรดกโลกโดย UNESCO ตั้งอยู่ห่างจากทัชมาฮาล ประมาณ 2.5 กิโลเมตร ตามประวัติศาสตร์ป้อมแห่งนี้เป็นสถานที่ซึ่งพระโอรสองค์ที่ 3 ของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน จับพระบิดามาคุมขังไว้ที่ป้อมแห่งนี้เป็นเวลากว่า 8 ปีก่อนสวรรคต โดยตามตำนานเล่าว่าก่อนสิ้นใจสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ยังคงกำกระจกไว้ในพระหัตถ์เพื่อให้สะท้อนเห็นภาพของทัชมาฮาลในวาระสุดท้ายของชีวิต (ค่าเข้าชมคนละ 1,000 รูปี)

วันที่ 4

เราออกเดินทางจากเมืองอัครา (เวลา 07.00 น.) เพื่อกลับสู่เมืองชัยปุระ รัฐราชสถาน โดยใช้เส้นทางเดียวกับตอนขาและ กลับถึงเมืองชัยปุระประมาณช่วงบ่ายก็เที่ยวต่อเลย สำหรับที่พักเมืองชัยปุระเรานอนที่ Hotel Yash Regency ห้องพักกว้างขวาง สะอาด และราคาดี ชั้นบนสุดของตึกมีร้านอาหารไว้บริการด้วย

เมืองชัยปุระ (Jaipur) หรือคนเรียก The Pink City เมืองที่สถาปัตยกรรมตึกรามบ้านช่องเป็นสีชมพู ที่มาของสีชมพูเหล่านี้เป็นคำบัญชาของมหาราชาสวาอี ราม สิงห์ เป็นการทาสีเมืองเพื่อต้อนรับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ที่เสด็จมาเยือน ถึงแม้ที่มาของสีเมืองไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรัก แต่สถาปัตยกรรมสีชมพูเหล่านี้เป็นจุดดึงดูดให้คู่รักทั่วโลก หรือแม้แต่คู่รักชาวอินเดียเอง ต่างจูงมือกันมาถ่ายพรีเวดดิ้งกันทุกมุมเมือง

ฮาวามาฮาล (Hawa Mahal) หรือพระราชวังแห่งสายลม ตั้งอยู่ใจกลางเมืองชัยปุระ ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญของเมืองชัยปุระ สร้างด้วยหินทรายสีชมพู ประกอบด้วยหน้าต่างขนาดเล็กตกแต่งฉลุเป็นช่องลมจำนวน 953 บาน นักท่องเที่ยวสามารถยืนถ่ายรูปได้เฉพาะด้านหน้าพระราชวังเท่านั้น (ไม่มีค่าเข้าชม)

ประตูปาตริกา (Patrika Gate) ประตูเมืองลำดับที่ 9 ของเมืองชัยปุระ ตั้งอยู่วงเวียนจาวาฮาร์ (Jawahar Circle) มีทั้งหมด 9 โดม 7 ซุ้มประตู แต่ละซุ้มเป็นเลเยอร์สวยสะกดด้วยศิลปะภาพวาดเล่าถึงประวัติความเป็นมาของรัฐราชสถาน นักท่องเที่ยวเข้าไปชมความงามและถ่ายรูปได้ (ไม่มีค่าเข้าชม)

Caffe Palladio Jaipur เอาจริงตั้งใจไปถ่ายรูปมากกว่าไปกิน (ฮ่า ฮ่า) ร้านอาหารสุดน่ารักสไตล์สายหวานพาสเทล ขายอาหารสไตล์อิตาเลียนและอาหารขึ้นชื่อของอินเดีย ขนมหวาน และเครื่องดื่มหลากเมนู ที่นี่มีชาวต่างชาติแวะเวียนมานั่งอ่านหนังสือ ทานอาหารกันอย่างหนาตา ดังนั้นคนไทยอย่างพวกเรามีหรือจะพลาด

วันที่ 5

เป็นอีกหนึ่งวันที่เรายังคงตะลอนเที่ยวรอบเมืองชัยปุระ แพลนวันนี้จะเข้านอกออกวังชมความหรูหราของพระราชวังต่าง ๆ ซึ่งเมืองชัยปุระขึ้นชื่อเรื่องพระราชวังและงานสถาปัตยกรรมที่งดงามมาก บอกได้คำเดียวว่าตื่นตาตื่นใจไปทุกแห่ง

พระราชวังซิตี้พาเลซ (City Palace of Jaipur) พระราชวังสีชมพูที่รวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองชัยปุระไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และชื่นชมความงามของสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างความเป็นราชสถานดั้งเดิมศิลปะแบบฮินดู เชื้อสายราชปุต (Rajput) กับความเป็นเอเชียกลางศิลปะแบบอิสลามเชื้อสายโมกุล (Mughal) ไว้อย่างลงตัว (ค่าเข้าชมเฉพาะโซนพระราชวังคนละ 500 รูปี และสำหรับทัวร์ทุกโซนแบบ Exclusive ราคาคนละ 2,500 รูปี)

มุมห้ามพลาดคือ ลานนกยูง 4 ฤดู (Pitam Niwas Chawk) ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์รัฐราชสถาน เป็นลานกลางแจ้งสำหรับนางรำในสมัยก่อน

จาล มาฮาล (Jal Mahal) หรือพระราชวังกลางน้ำ ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางก่อนขึ้นภูเขาเพื่อไปป้อมอาเมร์ (Amer Fort) สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนตากอากาศของมหาราชา เดินเล่นยามเย็นบริเวณริมน้ำแห่งนี้อากาศดีมากเลยทีเดียว

ป้อมอาเมร์ (Amer Fort) ป้อมปราการและพระราชวังที่ตั้งโดดเด่นบนขุนเขาที่ห้อมล้อมด้วยทะเลสาบ ยิ่งใหญ่จนเราตะลึง เป็นป้อมปราการที่ขึ้นชื่อเรื่องงานสถาปัตยกรรมศิลปะฮินดูเชื้อสายราชปุตขนานแท้ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สวยงามควรค่าแก่การเข้าชมอย่างยิ่ง (ค่าเข้าชมคนละ 550 รูปี)

ระหว่างทางลงจากป้อมอาเมร์ เป็นที่ตั้งของ พานนา มีนา กา คุนด์ (Panna Meena Ka Kund) บ่อน้ำขั้นบันไดโบราณแต่ไม่ใหญ่เท่าที่ แชนด์ เบารี สร้างเป็นแนวทแยง 8 ชั้น เพื่อให้ชาวบ้านสามารถลงไปตักน้ำพร้อมกันจำนวนมากได้ (ไม่มีค่าเข้าชม)

ป้อมนาหรครห์ (Nahargarh Fort) ป้อมปราการที่ตั้งบนเทือกเขาอะระวัลลี (Aravalli Range) จุดประสงค์เพื่อป้องกันการรุกรานและยังเป็นสถานที่ประทับยามที่มหาราชาเสด็จออกล่าสัตว์ด้วย ป้อมแห่งนี้เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นมารอชมพระอาทิตย์ตกและวิวเมืองชัยปุระแบบ 360 องศา ถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่มีความโรแมนติกสูงมาก ใช้เส้นทางขึ้นเขาเดียวกับทางไปป้อมอาเมร์

วันที่ 6

เราเริ่มออกเดินทางจากเมืองชัยปุระ เพื่อเริ่มเที่ยวฝั่งทิศตะวันตกของรัฐราชสถาน ปลายทางคือ เมืองจ๊อดปูร์ (Jodhpur) ระยะทางประมาณ 335 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง ในพื้นที่ตัวเมืองเก่าเป็นเขตอนุรักษ์รถยนต์เข้าไม่ได้ ต้องใช้บริการ “Auto Rickshaw” หรือรถตุ๊ก ๆ ซิ่งพาสู่ที่พัก เรานอนกันที่ Juna Mahal Boutique Homestay ที่พักน่ารักบรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเอง

เมืองจ๊อดปูร์ (Jodhpur) หรือที่คนมักเรียก The Blue City ถือเป็นอีกหนึ่งเมืองเก่าแก่ที่มีอายุ 500 กว่าปี เมืองนี้ตึกรามบ้านช่องเป็นสีฟ้าเกือบทั้งเมือง เนื่องจากสีฟ้าคือสีประจำตัวของพระศิวะ การทาบ้านสีฟ้าจึงหมายถึงความโชคดีและมีอำนาจ บางตำนานก็บอกว่ากลุ่มพราหมณ์และเศรษฐีเริ่มทาบ้านสีฟ้าก่อนเพื่อแบ่งชนชั้น นานเข้าคนก็ทาตามกันจนกลายเป็นสีฟ้าทั้งเมืองแบบนี้

อนุสรณ์สถานจัสวันต์ธาดา (Jaswant Thada) อนุสรณ์สถานแห่งนี้เขาบอกเสมือนทัชมาฮาลแห่งอาณาจักรมาร์วาร์ สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงท่านมหาราชาจัสวันต์ สิงห์ที่ 2 ซึ่งเป็นมหาราชาผู้เป็นที่รักยิ่งของประชาชน (ค่าเข้าชมคนละ 30 รูปี)

ป้อมเมห์รานการห์ (Mehrangarh Fort) ป้อมปราการและพระราชวังโบราณที่ยิ่งใหญ่ มีความสมบูรณ์สูง และเป็นหนึ่งในสี่ของพระราชวังที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ด้านในมีพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม เรามีเวลาตรงนี้ไม่มากเลยชมแค่ด้านนอกก็สัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่อลังการแล้ว (ค่าเข้าชมคนละ 1,200 รูปี)

บรรยากาศยามค่ำคืน ลองเดินเข้าตามตรอกออกตามซอยสรุปงง ดียังหาทางกลับเจอ บนถนนก็จะมีร้านขายของเปิดกันหนาแน่น ผู้คนอยู่กันยันดึก จับกลุ่มนั่งคุยกันสนุกสนาน

วันที่ 7

เราออกเดินทางจากเมืองจ๊อดปูร์ สู่อีกหนึ่งเมืองต้องมนต์ที่ต้องไปเยือน เมืองพุชการ์ (Pushkar) เมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ไม่ไกลถนนสายหลักระหว่างทางจากเมืองจ๊อดปูร์กลับสู่เมืองชัยปุระ ใครที่อยากไปขี่อูฐที่เมืองจัยซาแมร์ (Jaisalmer) แต่มีเวลาน้อยสามารถแวะขี่อูฐที่เมืองพุชการ์ได้ ไม่ไกลจากเมืองชัยปุระมาก ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที

เมืองพุชการ์ (Pushkar) เมืองเก่าแก่มากเมืองหนึ่งของอินเดีย ตั้งอยู่กลางขุนเขาซึ่งมีมนต์เสน่ห์ทางทัศนียภาพที่สวยงามมากอีกหนึ่งแห่งของรัฐราชสถาน ที่นี่เป็นเมืองของความเชื่อและศรัทธา เป็นที่ตั้งของ ทะเลสาบพุชการ์ (Pushkar Lake) ทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่าต้นกำเนิดมาจากหยดน้ำตาของพระศิวะที่ร้องไห้หลังการจากไปของพระนางสตีอันเป็นที่รัก หรือบางความเชื่อก็กล่าวว่าพระพรหมสร้างโลกโดยเริ่มจากทะเลสาบแห่งนี้เป็นศูนย์กลาง ชาวบ้านจึงเชื่อว่าน้ำในทะเลสาบสามารถรักษาโรคและชำระบาปได้ประหนึ่งน้ำในแม่น้ำคงคา

คำเตือน !ถ้ามีคนมาเสนอตัวจะเป็นไกด์พาเที่ยวรอบหมู่บ้าน อย่าตกลงปลงใจกับเขา จากประสบการณ์ตรงของเรา เขาจะพาเราเดินเที่ยวตรงนู้นตรงนี้และไปจบที่วัดฮินดูแห่งหนึ่งในเมือง หลังจากนั้นเขาจะเรียกพราหมณ์มานำเราทำพิธีเพื่อให้เราได้ชำระบาปและขอพรให้คนในครอบครัว โดยบอกเราเสมอว่าทุกอย่างไม่มีค่าใช้จ่ายแต่ถ้าอยากบริจาคสามารถหยอดเงินได้ที่ตู้รับบริจาครอบวัด ก่อนทำพิธีพราหมณ์ให้เรากับเพื่อนแต่ละคนแยกนั่งไกลกันโดยมีพราหมณ์ประกบทุกคน หลังจากจบพิธีพราหมณ์จะบอกว่าเราต้องทำบุญค่าอาหารตามจำนวนสมาชิกในครอบครัวมีกี่คนต้องทำให้ครบ คนละ 1,000 รูปี ยอดเงินของเราที่พราหมณ์แจ้งมาปาไปเกือบ 6,000 รูปี เพื่อนเราทุกคนโดนเหมือนกันหมด ยังดีที่เราเหลือเงินรูปีไม่มากเพราะจะกลับบ้านแล้ว ซึ่งพราหมณ์ก็พยายามจะเก็บเงินเราให้ได้แต่เราไม่มีให้เลยรีบเดินมาหย่อนตู้บริจาคไป 200 รูปี และพากันเดินออกจากวัดเลย หลังจากนั้นลองหาข้อมูลดูพบกระทู้ถูกพราหมณ์รีดไถที่เมืองพุชการ์เพี๊ยบ

เมืองพุชการ์มีเทศกาลยิ่งใหญ่ที่ดึงดูดให้คนทั่วโลกอยากมาสัมผัส Camel Fair เทศกาลอูฐที่จัดขึ้นมาเป็นเวลากว่าร้อยปี แต่ก่อนจัดเพียงเพื่อให้เหล่าพ่อค้าขายแลกเปลี่ยนสัตว์อย่าง อูฐ ม้า และวัว แต่ปัจจุบันมีงานมหรสพยิ่งใหญ่และมีการประกวดอูฐเข้ามาเพิ่มให้งานมีสีสันมากขึ้น ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงปลายเดือนตุลาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี คาราวานอูฐมากกว่าหมื่นตัวจากทั่วอินเดียจะมารวมตัวกันที่นี่ ซึ่งหากไม่ใช่ช่วงเทศกาลนักท่องเที่ยวก็สามารถแวะเที่ยวเมืองและขี่อูฐชมเมืองได้เช่นกัน ราคาคนละประมาณ 1,400 รูปี ใช้เวลาชมเมืองประมาณ 2 ชั่วโมง

วันที่ 8

ถึงเวลากลับบ้านแล้ว เราเดินทางออกจาก Jaipur International Airport โดยสายการบิน Thai Smile (เวลา 06.05 น.) เป็นเวลาที่เช้ามาก ตอนแรกตั้งใจจะนอนที่สนามบิน แต่พอไปนอน Zade House Jaipur แล้วติดใจ เลยใช้ Traveloka Mobile App จองเช่นเคย สามารถให้พนักงานโรงแรมจองรถมารับตอนตี 4 เพื่อส่งที่สนามบินได้ ราคามิตรภาพเช่นเดิม

ทุกการเดินทางก่อเกิดมุมมองใหม่ให้พบเจอเสมอ ประเทศที่เคยอยู่นอกสายตากลับกลายเป็นประเทศที่อยู่ในใจ ประเทศที่ไม่เคยนึกถึงความโรแมนติกกลับมีออร่าเรื่องราวความรักที่เปล่งประกาย เที่ยวอินเดียครั้งนี้กระตุ้นให้เรากล้าออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง มองความลำบากเป็นเรื่องสนุก ให้การโดนหลอกถือเป็นประสบการณ์ และซึมซับแรงบันดาลใจของความรัก จากหลากสถานที่เมื่อไปเยือน จากหลากนิสัยคนที่พบเจอ ยิ่งรู้จัก ยิ่งหลงรัก “อินเดีย”

งบประมาณ 18,000 บาท

(8 วัน 7 คืน สมาชิกจำนวน 5 คน)

ค่าตั๋วเครื่องบินขาไป Thai AirAsia (DMK-JAI) คนละ 2,940 บาท
ค่าตั๋วเครื่องบินขากลับ Thai Smile (JAI-BKK) คนละ 4,540 บาท
ค่าที่พัก Zade House Jaipur จำนวน 2 คืน คนละ 540 บาท
ค่าที่พัก Hotel Yash Regency Jaipur จำนวน 2 คืน คนละ 1,060 บาท
ค่าที่พัก Hotel Dazzle Agra จำนวน 2 คืน คนละ 1,295 บาท
ค่าที่พัก Juna Mahal Boutique Homestay Jodhpur จำนวน 1 คืน คนละ 600 บาท
ค่าเช่ารถพร้อมคนขับจำนวน 6 วัน คนละ 3,000 บาท
ค่าขี่อูฐชมเมืองพุชการ์ คนละ 700 บาท
เงินกองกลางสำหรับค่าอาหาร ค่าไกด์ ค่าเข้าสถานที่ และอื่น ๆ คนละ 3,500 บาท
รับทราบข้อมูลใหม่ ๆ ตลอดเวลา
สมัครรับจดหมายข่าวของเรา เพื่อคำแนะนำการท่องเที่ยวและรูปแบบการใช้ชีวิตที่มากขึ้น พร้อมด้วยข้อเสนอที่น่าตื่นเต้น
สมัคร